สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบสำคัญของโลกที่แพงอยู่แล้วยิ่งแพงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อาหาร” เนื่องจากทั้งยูเครนและรัสเซียเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันราว 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 19% ของตลาดโลก วิกฤตยูเครนในครั้งนี้จึงทำให้ราคาวัตถุดิบทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น รวมถึงต้นทุนพลังงาน และกระทบต่อทุกภาคส่วนทันที
ในประเทศไทย ราคาข้าวสาลีนำเข้าซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ มีราคาปรับสูงขึ้นจาก 8-9 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อปี 2564 เพิ่มเป็น 12 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน ขณะที่ข้าวโพดในประเทศไทยมีราคาปรับไปถึง 11.20 บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มไปถึง 12 บาทต่อกิโลกรัมในเร็วๆนี้ สถานการณ์นี้กำลังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อวัตถุดิบชนิดอื่นมีแนวโน้มราคาสูงตามไปด้วย โดยวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ราคาขึ้นมาสูงกว่า 50-60% แล้วยังไม่นับรวมต้นทุนค่าขนส่งที่แปรผันตรงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งพุ่งสูงขึ้นจากวิกฤตยูเครนเช่นกัน
ข้อมูลราคาวัตถุดิบจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยพบว่า ข้าวสาลีทะยานพุ่งสูงถึง 34.68% เมื่อเทียบกับปี 2564 กากถั่วเหลืองนำเข้าราคาขยับตัวสูงแตะ 20 บาท/กิโลกรัม จาก 16.51 บาท/กิโลกรัม ส่วนกากถั่วเหลืองที่ซื้อจากโรงสกัดน้ำมันในประเทศอยู่ที่ 21 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้วัตถุดิบตัวอื่นไม่ว่าจะเป็น มันสำปะหลัง ข้าวสาลี แป้งสาลี ข้าวบาร์เลย์ DDGS หรือ น้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นส่วนประกอบในวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ก็ล้วนปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก แม้แต่ถ่านหินซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตอาหารสัตว์ก็ปรับราคาสูงขึ้นเป็น 2 เท่าเช่นกัน รวมถึงน้ำมันดิบเบร็นท์ที่สูงเกินกว่า 100 ดอลล่าร์สหรัฐ / บาเรล
กล่าวได้ว่า นาทีนี้เกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์กำลังเดือดร้อนหนัก จากภาวะต้นทุนการผลิตสูงด้วยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ดังกล่าว ต้นทุนการผลิตอาหารของเกษตรกรไทยสูงขึ้นอย่างมากดังที่ นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงสถานการณ์นี้ว่ายูเครนและรัสเซียอาจไม่สามารถเก็บเกี่ยวหรือทำการส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ตามปกติ รวมถึงภัยแล้งในบราซิลที่กระทบปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองด้วย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเนื้อไกสูงขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง ในขณะที่ภาครัฐใช้มาตรการตรึงราคาขายเนื้อไก่ ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้เกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ต้องแบกภาระขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เช่นเดียวกับที่ นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ กล่าวว่าผู้เลี้ยงไก่ไข่ประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด แต่หน่วยงานภาครัฐไม่เคยเข้ามาช่วยเหลือ มีเพียงสั่งตรึงราคาขาย ทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยต้องเลิกเลี้ยงไปจำนวนมาก ราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 30-35% มาจากค่าอาหารสัตว์ ค่ายา ค่าแรง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่างปรับขึ้นทั้งหมด ซึ่งรัฐควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน สอดคล้องกับ นางพเยาว์ อริกุล นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง ที่ระบุว่าไม่มีคนทำมาหากินที่ไหนอยู่ได้ ถ้าถูกควบคุมราคาขายปลายทางแต่ต้นทุนผลิตพุ่งไม่หยุดเช่นนี้
กลไกการตลาดเสรีที่ปล่อยให้ราคาขึ้นลงตามต้นทุนที่แท้จริง จะช่วยต่อลมหายใจให้เกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือเรื่องของหมู ที่ระดับราคาปรับตัวลดลงเองหลังกลไกตลาดทำงาน เกษตรกรอยู่รอด ผู้บริโภคอยู่ได้ … ไม่ใช่ใช้วิธีผลักภาระให้คนเลี้ยงสัตว์ต้องแบกต้นทุนสูงๆ แต่ฝ่ายเดียว แล้วถูกบังคับขายในราคาควบคุมเช่นที่กำลังทำอยู่ …
No Comments