News

มกอช. ติวเข้มกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ผลิตรังไหม อำเภอแม่จริม ยกระดับการผลิตรังไหมคุณภาพตรงความต้องการของตลาด

02/09/2020

เตรียมพร้อมเข้าสู่การขอรับรองมาตรฐาน ก่อนดันสู่ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ www.DGTFarm.com

ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มและบริหารจัดการทรัพยากรและปัจจัยการผลิตร่วมกัน ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและการตลาด การลดต้นทุนการผลิต สร้างผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น รวมถึงการสร้างผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นไปตามความต้องการของตลาด มกอช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านมาตรฐานและการรับรองระบบงานสำหรับสินค้าเกษตรของประเทศไทย จึงได้กำหนดแผนงานส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อสนับสนุนและต่อยอดโครงการแปลงใหญ่สำหรับสินค้าเกษตรต่างๆโดยวางแผนดำเนินงานในลักษณะบูรณาการทั้งหน่วยงานภายใน มกอช. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อบรรลุเป้าหมายพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่ให้ปรับเข้าสู่ระบบการผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาด

ทั้งนี้ การผลิตเส้นไหมเชิงอุตสาหกรรม มีความต้องการรังไหมที่มีคุณภาพในปริมาณมาก เพื่อนำไปสาวและแปรรูปเป็นเส้นไหมไทย ผลผลิตรังไหมของเกษตรกรในประเทศยังมีปริมาณไม่เพียงพอ และคุณภาพยัง ไม่ตรงตามความต้องการของตลาด ปี 2559-2561 กรมหม่อนไหมจึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม ณ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตรังไหมที่ อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตรังไหมเพื่อจำหน่ายโดยตรง จึงเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาด้านการผลิตและการตลาดได้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรดังกล่าว ยังขาดองค์ความรู้ของการจัดการปัจจัยการผลิตที่ดีและการผลิตรังไหมที่ได้มาตรฐาน ทำให้ผลผลิตรังไหมที่ได้มีปริมาณน้อยและคุณภาพยังไม่ตรงตามความต้องการของผู้รับซื้อ ดังนั้น เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรผู้ผลิตรังไหม มกอช. จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาเครือข่ายกลุ่มผู้ผลิตรังไหมอุตสาหกรรมตามมาตรฐาน” เพื่ออบรมให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตรังไหม (มกษ. 8201-2555) และรังไหมพันธุ์ไทยสีเหลือง (มกษ. 8001-2553) อาทิ การตรวจประเมิน และการขอการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเป็นพื้นฐานเริ่มต้นให้กับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ผลิตรังไหม

“นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ผลิตรังไหมให้ได้ตามมาตรฐานในรูปแบบเครือข่ายที่สนับสนุนกันในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งและพัฒนากลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ผลิตรังไหมที่อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ให้สามารถผลิตรังไหมที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และพร้อมสำหรับขอการรับรองต่อไป รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ผลิตรังไหม ที่ได้รับการส่งเสริมเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานแล้ว เกษตรกรสามารถติดตราสัญลักษณ์ Q บนผลิตภัณฑ์ได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าเกษตรปลอดภัย รวมทั้งสามารถนำไปวางจำหน่ายในตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ www.DGTFarm.com อีกด้วย”เลขาธิการ มกอช. กล่าว

No Comments

    Leave a Reply