News

ชลประทาน เตรียมรับมือน้ำหลากลุ่มน้ำเพชรบุรี

03/09/2020

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา ลงพื้นที่ติตามการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยมี นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรีฃนายมีชัย ปฏิยุทธ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปการดำเนินงาน ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี


ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(3ก.ย.63)อ่างเก็บน้ำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเพชรบุรี ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำ 233 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ อ่างเก็บน้ำห้วยผาก มีปริมาณน้ำ 10 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯ และอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ มีปริมาณน้ำ 15 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเพชร ลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ในอัตรา 9 ลบ.ม./วินาที หรือประมาณ 0.79 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

สำหรับปริมาณน้ำที่ห้วยแม่ประจันต์ บริเวณสถานีวัดน้ำ B.11 (บ้านจะโปรง) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.89 เมตร ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย และที่สถานีวัดน้ำ B.6A (บ้านท่าเกวียน) ระดับน้ำ ต่ำกว่าตลิ่ง 5.10 เมตร ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ในส่วนของแม่น้ำเพชรบุรี ที่สถานีวัดน้ำ B.3 A (บ้านสองพี่น้อง) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.75 เมตร ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ที่สถานีวัดน้ำ B.9 (บ้านสารเห็ด) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.20 เมตร ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ที่สถานีวัดน้ำ B.10 (อำเภอท่ายาง) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 7.37 เมตร ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ที่สถานีวัดน้ำ B.16 (อำเภอบ้านลาด) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.85 เมตร อยู่ในเกณฑ์น้อย และที่สถานีวัดน้ำ B.15 (อำเภอเมืองเพชรบุรี) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.30 เมตร อยู่ในเกณฑ์น้อยกรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ด้วยการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยพื้นตอนบนจะทำการเก็บกักน้ำ พื้นที่ตอนกลางจะทำการหน่วงน้ำ และเร่งระบายน้ำออกทางพื้นที่ตอนล่าง พร้อมทั้งกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและกำหนดผู้รับผิดชอบประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้การประสานงานช่วยเหลือในพื้นที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือเข้าประจำพื้นที่ อาทิ เครื่องสูบน้ำรวม 82 เครื่อง ติดตั้งแล้ว 16 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 116 เครื่อง ทำการติดตั้งประจำพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดระนอง ชุมพร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์แล้วรวม 15 เครื่อง รถบรรทุกน้ำจำนวน 10 คัน และรถแบ็คโฮอีก 3 คัน พร้อมติดตั้งป้ายเตือนภัยน้ำท่วม 8 แห่ง ได้แก่ เพชรบุรี (ลุ่มน้ำเพขรตอนล่าง) 5 แห่ง ประจวบคีรีขันธ์ (บางสะพาน) 1แห่ง ระนอง(อ.เมือง) 2 แห่ง รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนและอาคารชลประทานที่อยู่ในความดูแล 66 แห่ง ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการกำจัดวัชพืช ผักตบชวา และสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญยังได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานระดับจังหวัด ประชุมหารือแนวทางการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำหลากอย่างต่อเนื่องอีกด้วย


ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ทางสายด่วนกรมชลประทาน โทร. 1460 หรือติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง http://water.rid.go.th/ และ www.rid.go.th

No Comments

    Leave a Reply