News PR NEWS

มกอช. น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เร่งดำเนินการ สนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร

04/12/2018

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)  เปิดเผยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งมอบให้ส่วนราชการต่างๆ เข้าไปสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามความต้องการขอรับการสนับสนุน ซึ่งการดำเนินงานของโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร แบ่งเป็น 6 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้านงานนักเรียนในพระราชนุเคราะห์ ฯ และทุนพระราชทานเพื่อการศึกษา ด้านการพัฒนาอาชีพ  ด้านการพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการ ด้านการพระราชทานความช่วยเหลือ และด้านความร่วมมือระดับนานาชาติ ดังนั้น มกอช. จึงได้ได้ดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการบูรณาการองค์ความรู้การเกษตรเพื่ออาหารปลอดภัยสำหรับสถานศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ณ ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ จ.แม่ฮ่องสอน 

เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า ทั้งนี้ มกอช. ร่วมกับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษา ในโครงการกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร( กพด.) ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 10 โรงเรียน และส่วนราชการสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการบูรณาการองค์ความรู้การเกษตรเพื่ออาหารปลอดภัยสำหรับสถานศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ในการพัฒนาองค์ความรู้ และทักษะด้านการพัฒนาอาชีพ ด้านการเกษตร ทั้งด้านพืช สัตว์และประมง รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เช่น วิชาการด้านสหกรณ์ การจัดทำบัญชีสหกรณ์และครัวเรือน การควบคุมต้นทุนการผลิตด้วยการผลิตปุ๋ยและอาหารสัตว์ สำหรับใช้บำรุงพืชและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย เพื่อเป็นต้นแบบขยายผลสู่โรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ต่อไปในอนาคต

“การอบรมครั้งนี้ มีนักเรียน  คณะครู/อาจารย์ จากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 และเจ้าหน้าที่ส่วนราชการสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 70 คน เข้าร่วมอบรม ซึ่งเป็นการดำเนินงานรูปแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area Approach) ร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และส่วนราชการอื่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน  โดยมีรูปแบบ 2  กิจกรรม คือ กิจกรรมที่  1  การบรรยายให้ความรู้ เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และความรู้เกี่ยวกับอาหารปลอดภัย มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร  การเลือกบริโภคสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย การเลือกซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมาย Q  กิจกรรมที่ 2  การฝึกปฏิบัติแบ่งเป็นฐานเรียนรู้ เช่น การดูแล/บำรุงรักษาต้นหม่อน การแปรรูปหม่อน  ผลสด การเรียนรู้เกี่ยวกับพืช สัตว์ ประมงที่เหมาะสมกับพื้นที่โรงเรียน และสรุปบทเรียนที่ได้ไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอน และการพัฒนาด้านอาชีพของโรงเรียนในโครงการ ฯ ต่อไป”นางสาวจูอะดี กล่าว

No Comments

    Leave a Reply