ภาพฝูงหนูยืนรุมแทะเนื้อหมูที่แขวนอยู่ในตลาดแห่งหนึ่ง ที่มีผู้ใช้ TIKTOK นำมาโพสต์เมื่อเร็วๆนี้ สร้างความพะอืดพะอมไม่น้อยหากนึกภาพว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ซื้อหมูจากแผงนี้ แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกออนไลน์มีการเผยแพร่ภาพลักษณะดังกล่าว แต่ก็เรียกว่า สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดคำถามถึง มาตรฐานการจัดจำหน่ายเนื้อหมูในบ้านเรา รวมถึงการพัฒนาตลาดขายเนื้อสัตว์อีกครั้ง
เพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมูที่ไม่พึงประสงค์ อาจต้องอาศัยคำแนะนำในการเลือกซื้อเนื้อหมูคุณภาพ ดังนี้
ประการแรก : พิจารณาดูว่าเนื้อหมูที่จะซื้อนั้นมาจากหมูที่มีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่ ซึ่งต้องมองย้อนหลังไปถึงฟาร์มที่เลี้ยง โดยดูได้จากผู้ผลิตหรือเกษตรกรที่เลี้ยงหมูนั้นมีมาตรฐานฟาร์มที่ดีหรือไม่ หรือที่เรียกว่า GAP (Good Agricultural Practices) รวมถึงใช้ หลักสวัสดิภาพสัตว์ ( Animal Welfare) ในการดูแลหมูที่เลี้ยงหรือเปล่า
ทำไมถึงต้องต้องพิจารณาว่าเลี้ยงด้วยสวัสดิภาพสัตว์? เพราะมาตรฐานนี้จะคำนึงถึงความเป็นอิสระของสัตว์เลี้ยง 5 ประการ ได้แก่ 1.) สัตว์ที่เลี้ยงมีอิสระจากความหิว กระหาย และการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง 2.) มีอิสระจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม คือต้องมีการระบายอากาศในโรงเรือนที่ดีและไม่เลี้ยงเบียดเสียดหนาแน่น 3.) มีอิสระจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ หรือเป็นโรค โดยต้องมีระบบการป้องกันโรคที่ดี มีการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างนุ่มนวล มีการใช้อุปกรณ์อย่างเหมาะสม พื้นที่การเลี้ยงที่สอดคล้องกับธรรมชาติของสัตว์ 4.)มีอิสระจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน ด้วยสภาวะการเลี้ยงดูที่ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานทางจิตใจ เช่น ก่อนการเข้าโรงชำแหละต้องทำอย่างนุ่มนวล และ 5.) มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์ คือมีอิสระการเป็นอยู่อย่างธรรมชาติ และมีความสบายตามชนิดของสัตว์ ฟาร์มที่ใช้หลักสวัสดิภาพสัตว์ จึงทำให้หมูในฟาร์มไม่เครียด ไม่ป่วย ไม่อมโรค พอไม่ป่วยก็ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และสะท้อนออกมาเป็นหมูอารมณ์ดี และมีสุขภาพแข็งแรง
ประการต่อมา : หมูควรได้รับการชำแหละในโรงชำแหละมาตรฐานซึ่งมีระบบป้องกันคุณภาพ GMP และ HACCP ภายใต้การควบคุมของ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ที่จะตรวจสอบสุขภาพหมูก่อนชำแหละ ซึ่งหมูต้องแข็งแรงและไม่พบสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อน ถ้าแข็งแรงดีจึงจะสามารถผ่านเข้าสู่กระบวนการชำแหละที่สะอาดสะอ้าน ถูกหลักอนามัย โดยที่เนื้อหมูจะไม่สัมผัสพื้นเลยแม้แต่นิดเดียว จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการขนส่งที่ต้องใช้รถที่มีการควบคุมอุณหภูมิซากหมูด้วย ไม่ใช่ใส่หลังรถกระบะแล้ววิ่งตามถนนไปโล่งๆแบบที่เคยเห็นกัน
ประการที่สาม : จุดจำหน่ายเนื้อหมู จุดนี้ล่ะที่เกิดเป็นคำถามชวนสงสัยทำอย่างไรจึงจะไม่หลวมตัวไปซื้อเอาหมูที่ถูกหนูแทะมาแล้วดังภาพใน TIKTOK นั้น แล้วเราจะหาสถานที่จัดจำหน่ายที่ถูกสุขอนามัยได้อย่างไร อันดับแรกต้องเลือกซื้อหมูที่วางขายในร้านหรือจุดขายที่มีการปิดมิดชิด ไม่มีแมลงวันตอม หรือ ไม่อยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการมีสัตว์พาหะ ที่สำคัญ ยังต้องเป็นการขายในพื้นที่ที่มีการควบคุมอุณหภูมิอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาคุณภาพของเนื้อหมูตลอดเวลา
ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ มีตัวช่วยให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเนื้อหมูหรือเนื้อสัตว์ได้ง่ายขึ้น เพียงสังเกตสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งกรมการันตีว่าจุดจำหน่ายเนื้อหมูหรือเนื้อสัตว์ที่ได้รับตราสัญลักษณ์นี้ เป็นจุดจำหน่ายที่ผ่านหลักเกณฑ์ 4 ข้อ ได้แก่ เนื้อสัตว์ที่จำหน่ายได้มาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP ผ่านการเชือดและชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาต ถูกกฎหมาย มีสุขอนามัยที่ดี ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้
พลังของผู้บริโภคนี่ล่ะ ที่จะช่วยกันยกระดับการพัฒนาการจัดจำหน่ายเนื้อหมูและเนื้อสัตว์ โดยเริ่มที่วิธีเลือกซื้อก่อน แล้วการพัฒนาย่อมตามมา ภาพหนูแทะหมูก่อนขายให้คน ก็จะค่อยๆหมดไป
No Comments