News

ชป.แจงระบายน้ำเพิ่มเขื่อนเจ้าพระยา ยัน..ไม่ส่งผลกระทบน้ำล้นตลิ่ง

08/10/2020

กรมชลประทาน แจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น หลังมีฝนตกชุกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และ ภาคตะวันออก โดยฉพาะบริเวณจังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้น

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ปัจจุบัน (8 ต.ค. 63) ที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,135 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) ต่ำกว่าตลิ่ง 5.71 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 726 ลบ.ม./วินาที ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1,300 – 1,400 ลบ.ม./วินาที เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์น้อยที่สุด ได้เพิ่มการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งรวม 557 ลบ.ม./วินาที พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 700 – 900 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อน ตั้งแต่บริเวณตำบลกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.5 – 1.00 เมตร ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาในครั้งนี้ว่า “ฝนที่ตกในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำน่าน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์มากขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้จะได้ผันน้ำบางส่วนเข้าทุ่งบางระกำ และจุดเก็บน้ำอื่นๆ แล้วก็ตาม อีกทั้ง 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ได้ลดการระบายน้ำลง เพราะต้องการเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึง แต่ฝนตกชุกในแถบลุ่มน้ำปิง ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร และพิจิตร ซึ่งอยู่ด้านท้ายเขื่อน มีน้ำ Side Flow (น้ำนอกเหนือการควบคุม) ค่อนข้างมาก และน้ำทั้งหมดจะไหลมารวมที่แม่น้ำเจ้าพระยาจังหวัดนครสวรรค์ จำเป็นที่จะต้องระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ในส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่า น้ำที่ว่านี้จะระบายเข้าทุ่งลุ่มต่ำภาคกลางได้หรือไม่ นั้น ขอชี้แจงว่ายังไม่สามารถระบายน้ำเข้าทุ่งได้ เพราะยังมีการปลูกข้าวเกือบเต็มพื้นที่ และบางพื้นที่เพิ่งจะเริ่มเพาะปลูก เนื่องจากปีนี้ทำนาล่าช้ากว่ากำหนดจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น”

กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าจะบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร หากมีปริมาณน้ำหลากเพิ่มเติม ที่อาจจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันต่อไป จึงขอให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชนได้ตลอดเวลา

No Comments

    Leave a Reply