News

ชป.รับฟังความเห็นต่าง โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรัง สอดคล้องสิ่งแวดล้อม สร้างสมดุลทรัพยากรน้ำกับชุมชน

09/04/2025

 

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณี “คนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง แสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยและขอให้ คชก.ทบทวนรายงานฯและยุติโครงการก่อสร้างประตูระบายกั้นแม่น้ำสะแกกรัง” ว่า  พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง ยังไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนที่เพียงพอ จึงมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเมืองอุทัยธานี ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้น้ำฝนเป็นหลักในการทำการเกษตร ทั้งยังส่งผลให้ผู้ประกอบการเลี้ยงปลากระชังจำนวนกว่า 1,000 กระชัง ได้รับความเดือดร้อนซ้ำซากเป็นประจำ ส่วนในช่วงฤดูฝน เมื่อมีปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนซึ่งเป็นที่ลาดชัน  จึงเกิดน้ำป่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำสายหลัก จนไม่สามารถระบายได้ทัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังโดยเฉพาะบริเวณ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์  นอกจากนี้  ยังเกิดมลพิษทางน้ำจากการขยายตัวของเขตชุมชนเมือง เนื่องจากยังขาดแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ตอนบน เพื่อระบายน้ำมาเจือจางและผลัดดันน้ำเสีย ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียบริเวณแม่น้ำสะแกกรังตอนล่างในเขตอำเภอเมืองอุทัยธานี

กรมชลประทาน ได้วางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว  ด้วยการศึกษาทบทวนและวิเคราะห์สภาพปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ  ศักยภาพและข้อจำกัดต่างๆ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนำผลการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง (SEA) จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มาเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานในพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผ่นแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค  ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต  และด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ให้ครอบคลุมทั้งมาตรการใช้และไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง    โดยได้พิจารณาแนวทางในการบรรเทาปัญหาเบื้องต้น 2 มาตรการ คือ มาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง  ด้วยการบริหารจัดการระบบอาคารชลประทานที่มีอยู่เดิม  ส่วนมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง เป็นการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำในแม่น้ำสะแกกรัง พร้อมปรังปรุงคลองธรรมชาติให้เป็นคลองผันน้ำอ้อมพื้นที่อำเภอลาดยาว

แต่เนื่องจากการก่อสร้างประตูระบายน้ำและอาคารประกอบ ในแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก จำเป็นต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนการดำเนินโครงการ  ซึ่งกรมชลประทาน  ได้ดำเนินการศึกษาโครงการฯ พร้อมลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน  รวมทั้งพบปะผู้แทนจากหน่วยงานราชการในระดับจังหวัด  อำเภอ  และท้องถิ่น  รวมไปถึงประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงของโครงการฯ ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม  มาอย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาโครงการ และเสนอผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แก่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.)   เพื่อพิจารณาอนุมัติดำเนินโครงการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้  หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ จะสามารถกักเก็บน้ำและรักษาระดับน้ำไว้ในลำน้ำ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภคบริโภค รวมทั้งการเกษตรช่วงฤดูแล้ง  สามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัยให้แก่พื้นที่อำเภอเมืองอุทัยธานี และพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย

No Comments

    Leave a Reply