News

“สำนักงาน กขค.” ถกผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและนโยบายแข่งขันเอเปค รับมือการแข่งขันทันสถานการณ์โลก

09/11/2022

“สำนักงาน กขค.” จัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและนโยบายแข่งขันเอเปค หรือ APEC Competition Policy and Law Group (CPLG) ประจำปี 2565 ในหัวข้อ“กฎหมายแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เสนอ 3 แผนงานประจำปี ได้แก่การสนับสนุนการฟื้นฟูหลังวิกฤตโควิด-19 การกำกับดูแลและส่งเสริมการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมในตลาดดิจิทัล และการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันที่ 9 พ.ย. 2565 ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งประธานในการประชุมของกลุ่มในปี2565 – 2566 ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและนโยบายแข่งขันเอเปค หรือ APEC Competition Policy and Law Group (CPLG) ประจำปี 2565 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าทั่วเอเปคจาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิก และจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “กฎหมายแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าในการเสริมสร้างและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์วิกฤติโควิด – 19 และผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อบรรเทาสถานการณ์ภาวะโลกร้อน ยกระดับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วทั้งภูมิภาคอย่างทั่วถึง ซึ่งในโอกาสนี้ ได้เสนอวาระและแผนประจำปีของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและนโยบายแข่งขันเอเปค ใน 3 ประเด็นหลักแก่กลุ่มฯ ได้แก่ 1) การสนับสนุนการฟื้นฟูหลังวิกฤตโควิด-19 2) การกำกับดูแลและส่งเสริมการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมในตลาดดิจิทัล และ 3) การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน


ศาสตราจารย์ ดร. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและนโยบายแข่งขันเอเปค หรือ APEC Competition Policy and Law Group (CPLG) ประจำปี 2565 ในหัวข้อ“กฎหมายแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจะประกอบไปด้วยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันสมาชิกเอเปค รวมถึงหน่วยงานหลัก ซึ่งขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและการคุ้มครองธรรมชาติ อาทิ กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งการเข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์ และข้อเสนอแนะการบังคับใช้และพัฒนากฎหมายการแข่งขันทางการค้าเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเติบโตในเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว เอเปค (APEC) หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย – แปซิฟิก เป็นการรวมตัวระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคฯ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมูลค่าการค้าการลงทุนกับสมาชิกเอเปค นับเป็นมูลค่ากว่า 70% ของมูลค่าการค้าการลงทุนของไทย กลุ่ม CPLG นั้น เป็น working group หนึ่งของเอเปคฯ และเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนแนวคิด นโยบาย และแนวทางปฏิบัติอันเป็นเลิศในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนผ่านการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุนที่เสรีและเป็นธรรม และความร่วมมือทางเทคนิคระหว่างประเทศสมาชิก และในปี 2565 และประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเอเปค และชูหัวข้อ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” อันเป็นการส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงหลังวิกฤตการณ์โควิด – 19 และจำนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model

ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาภูมิภาคไปสู่การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม ยกระดับความเชื่อมโยงระหว่าง
เขตเศรษฐกิจสมาชิก พร้อมทั้งขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกเข้าสู่โลกยุคหลังสถานการณ์โควิด – 19 ที่ยั่งยืนและสมดุลผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy Model รวมถึงส่งเสริมและสร้างเครือข่ายระหว่างสำนักงาน กขค. และหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการแข่งขันทางการค้าทั่วโลก เพื่อส่งเสริมบทบาท ของไทยในฐานะผู้นำด้านการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าในภูมิภาค

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากกล่าวปากฐาพิเศษในหัวข้อ “เป้าหมายกรุงเทพด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว – มิติความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่า เรายึดเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวเป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นตรีมการประชุมผู้นำเอเปคที่จัดในประเทศไทยครั้งนี้ ตนได้รับเชิญจากสำนักงาน กขค. มาร่วมปฐกถา ซึ่งตนได้พูดถึงเรื่องการที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลแข่งขันทางการค้าทั้งโลก โดยเน้นที่สมาชิกเอเปก จะต้องให้ความสนใจในการขับเคลื่อนเรื่องสภาวะโลกร้อน ดังนั้น BCG โมเดล จะเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนให้กับทุกภาคส่วน หน่วยงานที่ควบคุมกำกับการแข่งขันควรใช้กลไกในการช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เรื่อง BCG โมเดล เน้นทั้งเรื่องการกำกับดูแล การใส่แรงจูงใจ การช่วยกันพลิกฟื้น เพราะสภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องหญ่ทั่วโลกในอนาคตไทย และกลไกของสำนักงาน กขค. นั้น นอกเหนือจากการกำกับในรูปแบบเดิม การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของโลกคือมิติใหม่ที่ควรใช้ในการผลักดันเชิงนโยบายและการกำกับดูแลต่อไป โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว รวมถึงเรื่องสภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องใหญ่ กฎหมายต้องปรับตัวให้ทัน ต้องเติมเรื่องของสภาวะโลกร้อนเข้าไปในตัวกฎหมายด้วย

“สำหรับพรรคสร้างอนาคตไทย เราให้ความสำคัญเชิงนโยบายกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะสภาวะโลกร้อนไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ในประเทศไทย แต่ส่งผลทั้งโลก และในฐานะพรรคการเมืองต้องมีส่วนรับผิดชอบในการรักษาสิ่งแวดล้อมเรื่องนี้อยู่แล้ว” นายสนธิรัตน์ กล่าว

No Comments

    Leave a Reply