กรมชลประทานชี้แจงกรณี ชาวบ้านกุดก่วง ตำบลวังสามัคคี อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อน เนื่องจากเมื่อปี 2549 กรมชลประทานได้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านกุดก่วง-วังยาว เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จได้เปิดเครื่องทดลองสูบน้ำได้ไม่ถึงชั่วโมงเครื่องก็พัง จากนั้นไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วยซ่อมหรือพัฒนา ระยะเวลา 15 ปีแล้วที่ถูกทิ้งร้าง ไม่มีน้ำไหลลงสู่คลองส่งน้ำ นั้น
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ชี้แจงกรณีนี้ว่า เมื่อปี 2549-2550 กรมชลประทานได้ทำการประชาคมชาวบ้าน เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านกุดก่วง-วังยาว ตำบลวังสามัคคี อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด และในปี 2553 กรมชลประทานได้รับงบประมาณมาก่อสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมบ่อพักน้ำ ต่อมาปี 2554 ได้รับงบประมาณมาก่อสร้างระบบส่งน้ำความยาวคลอง 3,500 เมตร ตามที่ราษฎรได้อุทิศที่ดินให้ และเมื่อก่อสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมระบบส่งน้ำแล้วเสร็จในปี 2554 พร้อมทำการถ่ายโอนภารกิจให้องค์การบริหารส่วนตำบลวังสามัคคีไปดูแล แต่เนื่องจากทางองค์การบริหารส่วนตำบลวังสามัคคี มีความต้องการให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างฝายทดน้ำกั้นลำน้ำยังบริเวณบ้านกุดก่วง เพื่อกักเก็บน้ำและทำการทดลองสูบน้ำ องค์การบริหารส่วนตำบลวังสามัคคี จึงยังไม่ได้รับมอบภารกิจถ่ายโอนไปดูแล
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โครงการชลประทานร้อยเอ็ด ได้ลงพื้นที่ไปชี้แจงทำความเข้าใจ พร้อมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับนายบุญเส็ง ทิพย์ประมวล ผู้ใหญ่บ้านบ้านกุดก่วง (ผู้ร้อง) พร้อมทั้ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังสามัคคีและราษฎรในพื้นที่ โดยเบื้องต้นโครงการชลประทานร้อยเอ็ดจะเร่งรัดเข้าไปซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำและระบบส่งน้ำให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ พร้อมทั้งมีแนวทางในแก้ไขปัญหาร่วมกับท้องถิ่น โดยเห็นควรให้ทำการก่อสร้างฝายหินทิ้งชั่วคราวกั้นลำน้ำยัง เพื่อทดน้ำให้กับสถานีสูบน้ำ ซึ่งโครงการชลประทานร้อยเอ็ด จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณมาดำเนินการก่อสร้างฝายหินทิ้งชั่วคราว เพื่อเก็บกักน้ำให้สถานีสูบน้ำสามารถสูบน้ำได้โดยเร็ว และจะทำการถ่ายโอนภารกิจให้องค์การบริหารส่วนตำบลวังสามัคคีไปดูแลเป็นสาธารณะประโยชน์ต่อไป
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ได้มีแผนงานในการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยลำน้ำยังและน้ำชีตอนล่าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2565 และจะได้นำผลการศึกษามาเร่งรัดวางแผนแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป
No Comments