นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตาม 2 โครงการสำคัญ จังหวัดแพร่ ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพหัวงานฝายแม่ยม และโครงการอ่างเก็บน้ำแม่แคมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมประชุมร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบและติดตามความก้าวหน้าในด้านต่างๆ พร้อมมอบแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้ทุกๆ กิจกรรมของทั้ง 2 โครงการ สามารถสำเร็จตรงตามแผนงานที่ได้วางไว้
สำหรับโครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพหัวงานฝายแม่ยม ตำบลบ้านหนุน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ถือเป็นฝายทดน้ำคอนกรีตที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย โดยก่อสร้างแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2516 แต่พบว่าในปี 2554 ฝายมีสภาพเสียหายและไม่สามารถใช้การได้ กรมชลประทานจึงได้มีแผนในการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพให้ฝายแม่ยมผ่าน 8 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.กิจกรรมเตรียมการเบื้องต้น 2.กิจกรรมควบคุมน้ำระหว่างก่อสร้าง 3.กิจกรรมประตูระบายทราย 4.กิจกรรมปรับปรุงฝาย 5.กิจกรรมป้องกันการกัดเซาะและขุดลอกตกแต่งลำน้ำ 6.กิจกรรมป้องกันสวะ 7.กิจกรรมระบบควบคุม 8.กิจกรรมระบบไฟฟ้า และเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกฝั่งขวาได้ประมาณ 7 หมื่นไร่ และฝั่งซ้ายอีก 6 หมื่นไร่ ในเขตอำเภอสอง อำเภอหนองม่วงไข่ อำเภอเมือง อำเภอสูงเม่น และอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ พร้อมเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำได้เป็น 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร และเมื่อรวมกับปริมาณเก็บกักน้ำของฝายแม่ยม จะสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ถึง 6.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทานได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการเร่งรัดการดำเนินงาน ทั้งกำลังคน เครื่องจักรเครื่องมือ และเวลาการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถทันเก็บน้ำได้ก่อนที่จะหมดฤดูฝน แม้โครงการจะยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างก็ตาม ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถนำน้ำไปใช้ในการอุปโภค-บริโภค และรักษานิเวศได้ในทันที
จากนั้น อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ ติดตามการดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่แคมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2525 โดยเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางความจุ 8,550,000 ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์เพื่อการเกษตร 7,500 ไร่ สามารถส่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภคให้แก่ประชาชนจำนวน 15 หมู่บ้าน 3 ตำบล ของอำเภอเมืองแพร่ ปัจจุบันความก้าวหน้าของโครงการคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 54.3 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2564 นี้
No Comments