สวพ.7 เดินหน้าขับเคลื่อน “ปาล์มน้ำมันยั่งยืน จ.สุราษฎร์ธานี โมเดล” เร่งดำเนินการโครงการทดลองขยายการผลิตแปลงใหญ่และการพัฒนาแฟลตฟอร์มนวัตกรรมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้เกษตรกรและพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมปาล์มครบวงจรในอนาคต
นายวิรัตน์ ธรรมบำรุง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 สุราษฎร์ธานี (สวพ.7) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดสุราษฎร์ธานีถือเป็นแหล่งผลิตและแหล่งวัตถุดิบปาล์มน้ำมันสำคัญของประเทศ เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย (1.39 ล้านไร่) และมีห่วงโซ่ปาล์มน้ำมันที่ครบวงจร ตั้งแต่เกษตรกรผู้ผลิต ทั้งรายย่อย รายใหญ่ มีการรวมกลุ่มเกษตรกร มีผู้รับซื้อรายย่อยและรายใหญ่ มีโรงงานสกัดน้ำมัน มีหน่วยงานที่วิจัยเกี่ยวปาล์มน้ำมัน คือ ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี และมีหน่วยงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ แต่จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2564) กลับพบว่าผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของเกษตรกรในพื้นที่ ปี 2563 ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 3 ตัน/ไร่/ปี (เฉลี่ย 2.8 ตัน/ไร่/ปี) ดังนั้นทีมนักวิจัยของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 (สวพ.7) จึงได้เร่งแก้ปัญหาจุดอ่อนโดยนำเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้องและจำเป็นกับการผลิตมาทำการทดสอบ เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่มีต่อสภาพพื้นที่
นางสาวสุธีรา ถาวรรัตน์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ หัวหน้าการวิจัย กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวได้เริ่มศึกษาในปี พ.ศ. 2559 ถึงปัจจุบัน เป็นความร่วมมือกันของนักวิจัยในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ของ สวพ.7 กับเกษตรกรในพื้นที่ และหน่วยงานต่างๆ ภายในท้องถิ่น จนได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับและได้นำมาขยายผลทดลองกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันนำร่องของ จ.สุราษฎร์ธานี ที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ได้ ในปี พ.ศ.2564 โดยได้คัดเลือกกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน จำนวน 30 ราย รวมพื้นที่ 224 ไร่ ซึ่งเกษตรกรกลุ่มนี้มีหลายปัจจัยที่เหมาะสมต่อการนำเทคโนโลยีมาขยายผลทดสอบในครั้งนี้ คือ เป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ที่ส่วนใหญ่จัดการสวนด้วยตนเอง และมีความประสงค์เข้าสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานในพื้นที่ ได้แก่ เกษตรกรแปลงใหญ่ของอำเภอ
โดยปาล์มน้ำมันมีอายุต้นที่หลากหลาย อาทิ ช่วงเริ่มให้ผลผลิต ช่วงให้ผลผลิตสูง และช่วงต้นปาล์มน้ำมันอายุมาก ซึ่งสอดคล้องกับเทคโนโลยี คือ เทคโนโลยีการจัดการสวน เทคโนโลยีการจัดการปุ๋ย โดยส่วนนี้จะเป็นการช่วยเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพการผลิต เทคโนโลยีการผลิตพืชแบบผสมผสานเบื้องต้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางรายได้เพิ่ม และความรู้เกี่ยวกับการเกิดโรคโคนเน่าจากเชื้อกาโนเดอร์ม่า ซึ่งกำลังเป็นปัญหากับปาล์มน้ำมันกลุ่มปลูกทดแทน และเป็นปัญหาบ้างแล้วในบางพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนนี้จะเป็นการช่วยเพิ่มความรู้ในการลดความเสี่ยงและเฝ้าระวังการโรคกับเกษตรกรได้
ในการดำเนินการขยายผลเทคโนโลยีนี้ เป็นการร่วมกันระหว่างทีมนักวิจัย นักส่งเสริมการเกษตร กลุ่มเกษตรกร โดยได้ดำเนินการคัดเลือกพื้นที่ คัดเลือกเกษตรกร จัดเสวนาความต้องการและปัญหาของเกษตรกร ให้ความรู้เชิงปฏิบัติการ พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างดินและใบปาล์มน้ำมันเพื่อเข้าสู่กระบวนให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินใบ กระบวนการจัดการสวนและการให้ปุ๋ยที่ถูกต้อง มีการติดตามการจัดการสวนและปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ผ่านการติดต่อทาง online และจะประเมินความรู้และความพึงพอใจของเกษตรกรต่อเทคโนโลยีต่อไป และขณะนี้ สวพ.7 นำทีมโดย นางจินตนาพร โคตรสมบัติ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กำลังดำเนินการศึกษารูปแบบการส่งต่อความรู้เพื่อสร้างรูปแบบ หรือ แฟลตฟอร์มที่เหมาะสมกับสังคม และเศรษฐกิจของเกษตรกรชาวสวนปาล์มจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามเป้าหมายของแผนงานวิจัย โดยการสำรวจและรวมรวมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบห่วงโซ่ปาล์มน้ำมันในจังหวัด เพื่อสร้างรูปแบบการส่งต่อความรู้แบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ ผลักดันให้ความรู้เป็นเครื่องมือหรืออาวุธสำคัญในการแก้ปัญหา สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงในอาชีพสำหรับเกษตรกรชาวสวนปาล์มด้วย โดยจะสรุปและนำไปใช้ส่งต่อความรู้ในปลายปีนี้
นายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญ สวพ.8 ในฐานะ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย กล่าวว่า “ทีมวิจัยคาดหวังให้เกษตรกรเป้าหมายนี้มีความรู้ในการจัดการผลิตปาล์มน้ำมัน มีสามารถวางแผนการเฝ้าระวัง ซึ่งจะยังผลให้เกษตรกรมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและนำมาสู่การมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นมีการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า ตลอดจนส่งผลให้กลุ่มเกษตรกร ชุมชนมีความมั่นคงในอาชีพ และมีวัตถุดิบที่เพียงพอช่วยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ต่อไป อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้จากภาคการผลิตปาล์มน้ำมันในการพัฒนาจังหวัดได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย ”
No Comments