News

มกอช. เปิดโต๊ะระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน จัดทำมาตรฐานคุมเข้มทุเรียนอ่อน

13/04/2022


นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ทุเรียน เป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยสูงที่สุด โดยจากข้อมูลคาดการณ์ในปี 2565 พบว่าจะมีผลผลิตประมาณ 1,321,648 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 10.00 และคาดว่าการส่งออกทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.03 จากปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณรวม 995,009 ตัน เป็นทุเรียนสด 946,585 ตัน ทุเรียนแช่แข็ง 47,570 ตัน ทุเรียนอบแห้ง 353 ตัน และทุเรียนกวน 502 ตัน เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะตลาดจีน แต่ช่วงต้นฤดูกาลผลิตทุเรียนมักจะเกิดปัญหาการเร่งตัดทุเรียน เพื่อจำหน่ายทำให้พบทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาดมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนไทยในสายตาผู้บริโภค รวมทั้งเกษตรกร ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากถูกกดราคาจากผู้รับซื้อ การดำเนินการในการแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วนในห่วงโซ่การผลิต ได้แก่ เกษตรกร ผู้ตัดทุเรียน และโรงรวบรวม/โรงคัดบรรจุ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งองคาพยพ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานภาคี ได้มีการวางมาตรการควบคุมและป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อน เช่น การกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน จัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อช่วยกันสกัดกั้นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) และออกประกาศจังหวัดเรื่องการกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน รวมถึงมีการพิจารณาใช้บทลงโทษทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 โดยนำร่องในจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตทุเรียนสำคัญของภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ระยอง และตราด
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานในการควบคุมกำกับดูแลปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการส่งออก การจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรับวัตถุดิบของโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียน เป็นมาตรฐานบังคับภายใต้ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 จึงเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่จะนำมาใช้ในการควบคุมและแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงจะสามารถช่วยขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพของทุเรียนไทยเพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดโลกที่สูงขึ้น

ดังนั้น มกอช. จึงได้มีดำเนินการจัดการสัมมนาระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรับวัตถุดิบของโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียน เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการ และเกษตรกร ได้มีส่วนร่วมและมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อร่างมาตรฐาน เพื่อให้ มกอช. นำไปปรับปรุงร่างมาตรฐานให้อยู่ในแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้และเป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ความเห็นชอบและประกาศเป็นมาตรฐานบังคับต่อไป โดยได้รับเกียรติจากนางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ทำหน้าที่เป็นประธานการอภิปราย
“การระดมความคิดเห็นครั้งนี้ เพื่อให้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับและอยู่ในแนวทางที่ปฏิบัติได้ จึงต้องมีการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างมาตรฐานดังกล่าวจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อนำไปปรับปรุงร่างมาตรฐานฯ ให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรพิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศเป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป”เลขาธิการ มกอช. กล่าว

No Comments

    Leave a Reply