นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวบรรยายพิเศษ “บันทึกข้อตกลงทางวิชาการระหว่างสภาเกษตรกรแห่งชาติกับสำนักเศรษฐกิจการเกษตร” และกล่าวขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพบุคลากรสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ประเมินผลและติดตามข้อเสนอเชิงนโยบาย” ด้วยระบบประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธานเปิด กล่าวรายงานโดย นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมด้วยบุคลากรสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด และบุคลากรสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 595 คน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 17 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด 77 จังหวัด
นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวภายหลังว่า พระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 เป็นกฎหมายที่ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพในการคุ้มครอง รักษาผลประโยชน์เกี่ยวกับการผลิต และการตลาดเพื่อให้ผลิตผลทางการเกษตร ได้รับผลตอบแทนสูงสุด และมีสภาสำหรับเกษตรกร ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนเสริมสร้างความสมานฉันท์ของเกษตรกรทั้งประเทศ ทำให้เกษตรกรมีความเข็มแข็งและมีการรวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพโดยสร้างเครือข่ายเกษตรกร นอกจากนี้ เกษตรกรสามารถจัดทำแผนแม่บทเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา กำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการและสภาพปัญหาอันแท้จริง รวมทั้งให้เกษตรกรได้รับการพัฒนา ส่งเสริมให้ได้รับความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกรรมด้านต่างๆโดยตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 ได้กำหนดว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกําหนดนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกร และองค์กรเกษตรกร ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การผลิต การแปรรูป การตลาด และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งภารกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการส่งเสริมแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ให้ความเห็นต่อนโยบาย กฎหมาย หรือข้อตกลงที่เกี่ยวข้องและข้อแนะนําแก่เกษตรกร องค์กรเกษตรกร และนอกจากนี้ มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 ยังได้กำหนดให้สภาเกษตรกรแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่จัดทำแผนแม่บทเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา วิเคราะห์และกลั่นกรอง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป รวมทั้งอํานาจหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนแม่บท พร้อมทั้งรายงานปัญหาและอุปสรรคที่ไม่อาจดําเนินการตามแผนแม่บทและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา
พระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 มาตรา 20 ได้กำหนดว่าให้จัดตั้งสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณหรือกฎหมายอื่น เรียกโดยย่อว่า “สกช.” มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบงานด้านธุรการและทำหน้าที่เป็นเลขานุการของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติได้รวบรวมข้อเสนอจากสภาเกษตรกรจังหวัด และสภาเกษตรกรแห่งชาติจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอคณะรัฐมนตรี ตลอดจนเสนอกราบเรียนนายกรัฐมนตรีตามลำดับ ซึ่งการจัดทำข้อเสนอนโยบายที่ผ่านมาบุคลากรของสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติและสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยังขาดประสบการณ์ในการรวบรวมข้อมูล จัดลำดับความสำคัญของการเขียนข้อเสนอเชิงนโยบาย ทำให้ยังขาดความน่าเชื่อถือในการส่งข้อเสนอเชิงนโยบายไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเมื่อส่งข้อเสนอเชิงนโยบายไปแล้วยังขาดการติดตามประเมินผลข้อเสนอเชิงนโยบายอีกด้วย สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ภายใต้กรอบแนวทางการดำเนินงานร่วมกันนั้นมีระบุว่าสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)จะเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ติดตามประเมินผลและแนวทางการดำเนินกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย
สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติให้ความสำคัญกับการปลูกฝังวิธีคิด วิธีการรวบรวมข้อมูล การเขียนข้อเสนอเชิงนโยบาย การติดตามประเมินผลให้กับบุคลากรสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และบุคลากรสำนักงานสภาเกษตรจังหวัด จึงได้จัดโครงการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพบุคลากรสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายประเมินผลและติดตามข้อเสนอเชิงนโยบาย” ขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาเสริมสร้างองค์ความรู้ในกระบวนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย/ข้อเสนอแนะ/โครงการ/แผนงาน ให้กับบุคลากรสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด และเพื่อพัฒนาเสริมสร้างองค์ความรู้ในกระบวนการติดตามประเมินผลข้อเสนอเชิงนโยบาย/ข้อเสนอแนะ/โครงการ/แผนงาน ให้กับบุคลากรสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ด้วยคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะได้มีองค์ความรู้ในกระบวนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและสามารถจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย/ข้อเสนอแนะ/โครงการ/แผนงานได้อย่างเป็นระบบสอดคล้องเชื่อมโยงแผนใน 3 ระดับ และมีองค์ความรู้และสามารถวางแผนงานในกระบวนการติดตามประเมินผลข้อเสนอเชิงนโยบาย/ข้อเสนอแนะ/โครงการ/แผนงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯต่อไป ซึ่งภายใต้โครงการดังกล่าวมีหัวข้อเรื่องการอบรมให้แก่บุคลากร ได้แก่ การเชื่อมโยงแผน 3 ระดับ เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย , มโนทัศน์ของการติดตามและประเมินผล , การกำหนดประเด็นและตัวชี้วัดการประเมินผล , เครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล , การวิเคราะห์ข้อมูล , การจัดทำเค้าโครงการประเมินผล , การจัดทำรายงานและการเผยแพร่
No Comments