เปิดยิ่งใหญ่ !! OTOP CITY 2109 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนชวนคนไทย
ช้อปของขวัญปีใหม่จากผลิตภัณฑ์ชุมชน ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ตื่นตาตื่นใจกับมหัศจรรย์งานศิลป์ ของเหล่าศิลปิน OTOP ทั้ง “เรือสุพรรณหงส์จำลอง” และ “ผลิตภัณฑ์ไม้รูปสัตว์จากเมืองแพร่” พร้อมเปิดโซนใหม่ OTOP Lady เอาใจสาวนักช้อป “ช้อปสินค้าได้ครบในที่เดียว” และโซน “ตัดเย็บเสื้อผ้า” โดยงานจะมีไปจนถึงวันที่ 23 ธันวาคมนี้ ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 – 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี 16 ธ.ค.62 นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงาน OTOP City 2019 ครั้งที่ 14 ภายใต้แนวคิด “เทศกาลของขวัญปีใหม่ ของฝากถูกใจ ผลิตภัณฑ์ทั่วไทย รวมไว้ใน OTOP City 2019” พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่ผู้แทนคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด โดยมี นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ คณะทูตานุทูต คณะรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง และประชาชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การจัดงาน OTOP City 2019 เป็นการจัดงานเพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ซื้อหาของขวัญของฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์อันมีค่าจากฝีมือคนไทย โดยการจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการนำองค์ความรู้เชิงนวัตกรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานำเสนอ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญ คือ การเป็นศูนย์เรียนรู้ระหว่างผู้ประกอบการ OTOP และหน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การพัฒนาสินค้า OTOP เป็นสิ่งที่รัฐบาล และกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง และจะสนับสนุนช่องทางการตลาดด้าน E–Commerce Online ให้มากขึ้น โดยการเชื่อมประสานแบบบูรณาการกับภาคเอกชน ประชารัฐ องค์การตลาด และส่วนราชการ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนและผลักดันยอดจำหน่ายสินค้า OTOP ให้ถึงเป้าหมายสามแสนล้านบาทต่อไปนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนมีการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้ามากกว่า 2,500 บูท ผลิตภัณฑ์ OTOP มากกว่า 20,000 รายการ ทั้งนี้ ในการจัดงานทุกครั้งที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทยมักมียอดจำหน่ายสูงสุด ดังนั้น กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ รณรงค์ให้คนไทยสวมใส่ ผ้าไทยให้มากขึ้น ซึ่งหากคนไทยเพียง 35 ล้านคน สวมใส่ผ้าไทยเฉลี่ยคนละ10 เมตร เมตรละ 300 บาท จะมีการใช้ผ้าไทยถึง 350 ล้านเมตร คิดเป็นเงินกว่า 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ภายในงานยังมีโซน OTOP Lady ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก เพื่อเอาใจสาวนักช้อปที่มีเวลาน้อยให้ “ช้อปสินค้าได้ครบในที่เดียว”ซึ่งภายในโซนจะมี ทั้งเสื้อผ้า (ผ้าผืน/เสื้อผ้าสำเร็จรูป) กระเป๋า รองเท้า หมวก เครื่องประดับ (เครื่องทอง เงิน เพชรพลอย มุก ลูกปัด ฯลฯ) และเครื่องสำอาง เป็นต้น
ส่วนกระแสตอบรับจากผู้เข้าชมงานในวันแรก (15 ธ.ค.62) สร้างยอดจำหน่ายแล้วกว่า 152 ล้านบาท โดยมียอดจำหน่ายสูงสุด 5 ลำดับแรก ประกอบด้วย 1.นางสมสมัย เขาหิน ทองสุโขทัย จ.สุโขทัย 2. หินหยกแกะสลัก จ.เชียงราย 3.นางอรอนงค์ พิพิธทอง ทองสุโขทัย จ.สุโขทัย 4. ลำพูนไทยซิลด์ ไหมยกดอกลำพูน จ.ลำพูน 5.นางสาวปาริชาติ แก้วหนัก ผ้าไหมยกดอก จ.ลำพูน ทั้งนี้ ภายในงาน มีกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ภายใต้แนวคิด “จิตอาสา ทำความดีด้วยหัวใจ” 2. การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP 5 ประเภท 3.กิจกรรมHighlight ได้แก่ โซนของขวัญปีใหม่ โซนหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โซน OTOP Masterpiece โซนผลิตภัณฑ์ที่ชนะการประกวด Knowledge based OTOP (KBO) และโซนตัดเย็บเสื้อผ้า 4. การจัดนิทรรศการของหน่วยงานภาคี ที่ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ร่วมกัน 5. กิจกรรมการบริการ เช่น ธนาคาร/ไปรษณีย์, Health & Spa, บริการห่อของขวัญ และ 6.OTOP ชวนชิม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมความบันเทิงต่าง ๆ เช่น การแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงมินิคอนเสิร์ต กิจกรรมสินค้านาทีทอง กิจกรรมจับรางวัลชิงโชค เพียงช้อปสินค้า OTOP ครบทุก 1,000 บาท ลุ้นรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและสร้อยคอทองคำหนัก 1 สลึง ทุกวัน ๆ ละ 5 เส้น รวม 45 รางวัล วันสุดท้ายลุ้นรับรางวัลใหญ่ สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท จำนวน 5 รางวัล มูลค่ารวม 500,000 บาท นอกจากนี้ ภายในงานพิธีเปิดยังจัดให้มีพิธีมอบเกียรติบัตรแก่ผู้แทนคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่มีการบริหารจัดการหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีดีเด่น จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ พะเยา น่าน เชียงราย แพร่ สุพรรณบุรี อุตรดิตถ์ สระแก้ว และจังหวัดตาก เพื่อยกย่องเชิดชูแบบอย่างของการบริหารกองทุนฯ ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรีให้รับผิดชอบกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่สตรีและองค์กรสตรีในการนำไปประกอบอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ ส่งเสริมพัฒนาบทบาทสตรี และพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรี ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ปัจจุบันมีทรัพย์สินกองทุนมากกว่า 7,200 ล้านบาท มีสมาชิกกว่า 13 ล้านคน โดยในปี 2560 – 2562 ได้อนุมัติเงินอุดหนุนและเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 48,900 โครงการ เป็นเงินกว่า 5,000 ล้านบาท มีสตรีได้รับประโยชน์มากกว่า 1.7 ล้านคน
No Comments