News

กรมประมง…นำทัพสื่อมวลชนลงพื้นที่ร่วมเป็นสักขีพยาน “ทำลายซากสัตว์น้ำของกลาง” มูลค่ากว่า 5.5 ล้านบาท หลังศาลตัดสินคดีถึงที่สุด

17/08/2019

 


​เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 2 (สมุทรสาคร) ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร กรมประมง จัดพิธีการทำลายของกลางซากของสัตว์ป่า ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่คดีสิ้นสุด และตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 จำนวน
10 รายการ ได้แก่ ซากม้าน้ำแห้ง ซากปลาจิ้มฟันจระเข้แห้ง ซากปะการัง ซากกัลปังหา ซากจระเข้ ซากเต่า
ซากตะพาบน้ำไทย ซากดาวทะเล ซากเปลือกหอย และซากหอยงวงช้างตากแห้ง รวมมูลค่าของกลางกว่า 5,500,000 บาท ( ห้าล้านห้าแสนบาทถ้วน) กรมประมง …ฝากแจ้งผ่านสื่อไปยังประชาชนให้ทราบว่าการนำเข้าส่งออก ค้า และครอบครองสัตว์น้ำเหล่านี้มีความผิดทางกฎหมาย

นายคณิศร์ นาคสังข์ ผู้อำนวยการกองควบคุมการค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต กล่าวหลังเป็นประธานในพิธีการทำลายของกลางซากของสัตว์ป่าซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่คดีสิ้นสุดและตกเป็นของแผ่นดิน ว่าการทำลายของกลางในครั้งนี้ ดำเนินการตามระเบียบกรมประมงว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่าซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่ตกเป็นของแผ่นดิน และมีสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานและเก็บรักษาไว้ได้ โดยของกลางที่นำมาทำลายในวันนี้ กรมประมงได้รับมอบมาจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ จากกรมศุลการกร 5 คดี จากการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักร 1 คดี จากการตรวจยึดบนอาคารผู้โดยสาร 10 คดี และจากการจับกุมการลักลอบค้าและครอบครองสัตว์ป่าภายในประเทศ 24 คดี ซึ่งกรมประมงมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในการลักลอบนำเข้า ส่งออก ค้า หรือครอบครองสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการลักลอบนำเข้าส่งออกสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่าที่ปรากฎตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดของสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออกที่ไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง และการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยคดีสิ้นสุดแล้ว

สำหรับของกลางที่นำมาทำลายด้วยวิธีการบดและฝังกลบในครั้งนี้ เป็นของกลาง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 – 2561 ซึ่งคดีสิ้นสุดแล้วตกเป็นของแผ่นดิน และมีสภาพชำรุดผุพังและเสื่อมสภาพ โดยเป็นการทำลายตามระเบียบกรมประมงว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่าซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่ตกเป็นของแผ่นดิน พ.ศ.2541 ซึ่งประกอบด้วยของกลางที่มีการกระทำความผิด จำนวน 40 คดี จำนวน 10 รายการมีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 5,500,000 บาท ได้แก่
1. ซากม้าน้ำแห้ง​​​น้ำหนัก​130.6 กิโลกรัม
2. ซากปลาจิ้มฟันจระเข้แห้ง​น้ำหนัก 7.2 กิโลกรัม
3. ซากปะการัง ​​​น้ำหนัก 155 กิโลกรัม และอีก 57 ชิ้น
4. ซากกัลปังหา ​​​จำนวน 204 ชิ้น
5. ซากจระเข้ ​​​จำนวน 98 ชิ้น
6. ซากเต่า ​​​จำนวน 312 ชิ้น
7. ซากตะพาบน้ำไทย ​​จำนวน 2 ชิ้น
8. ซากดาวทะเล ​​​จำนวน 9 ชิ้น
9. ซากเปลือกหอย ​​จำนวน 2,225 ชิ้น
10. ซากหอยงวงช้างตากแห้ง​น้ำหนัก 9 กิโลกรัม

ซึ่งส่วนใหญ่ของกลางเหล่านี้จะมีการลักลอบนำไปขายทำยา ทำเครื่องประดับ หรือนำไปตกแต่งอควาเรียม เรื่องมูลค่าความเสียหายก็ส่วนหนึ่ง แต่คุณค่าของทรัพยากรเหล่านี้ บางชนิดอยู่ในสภาวะที่ใกล้สูญพันธุ์ บางชนิดกว่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาใช้เวลาเป็นร้อยปี มันจึงเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจที่จะประเมินค่าได้ โดยปัจจุบันปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้น มีการลักลอบการนำเข้าด้วยวิธีการที่หลากหลาย และหลายช่องทางเพื่อหลบเลี่ยงการจับกุมจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งการกระทำความผิดนี้ถือว่าเป็นอาชญากรรม มีโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่งผลการลักลอบในแต่ละครั้งส่งผลต่อภาพลักษณ์ในด้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

​กรมประมงมุ่งหวังว่า ภารกิจงานการทำลายของกลางในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูลสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เยาวชนและประชาชนให้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาการลักลอบการนำเข้าส่งออกการค้าและครอบครองสัตว์น้ำ ตนม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และนำไปสู่การอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำเหล่สนี้ของประเทศไทยให้คงอยู่ต่อไป

No Comments

    Leave a Reply