News

ชป. เร่งเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลัก ลุย..บริหารจัดการน้ำเต็มศักยภาพ ลดผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำน้อย

17/09/2021

กรมชลประทาน เร่งเก็บกักน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา งดการระบายน้ำ สำรองไว้อุปโภคบริโภคแล้งหน้า  ในขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมแม่น้ำน้อย(นอกคันกั้นน้ำ) ดีขึ้นโดยลำดับ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ปัจจุบัน(17 ก.ย. 64) 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,056 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 3,360 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีก 14,815 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์น้ำยังอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกส่วนใหญ่ในขณะนี้ ยังคงอยู่ในพื้นที่ท้ายอ่างฯ ทำให้จำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ตอนบน เพื่อสำรองไว้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ในช่วงฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(17 ก.ย. 64) ปริมาณน้ำทางตอนบนที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.50 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,627 ลบ.ม./วินาที แนวน้ำโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงได้ปรับลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 1,287 ลบ.ม./วินาที  ทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมแม่น้ำน้อยนอกคันกั้นน้ำ ตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลดลงตามไปด้วย

สำหรับในระยะต่อจากนี้ไป การควบคุมระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จะคงอัตราปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนอยู่ที่ 1,200 ลบ.ม./วินาที  เพื่อลดระดับน้ำให้อยู่ที่ระดับ +15.50 ม.รทก.ถึง+16.00 ม.รทก. เพื่อรองรับน้ำจากตอนบนในกรณีที่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น การบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ได้มีการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่ง รวมถึงด้านท้ายเขื่อน สามารถลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยรับน้ำผ่านประตูระบายน้ำปากคลองบางแก้ว และประตูระบายน้ำปากแม่น้ำลพบุรี ซึ่งจะลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนในอัตราที่ลดลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลากปี 2564 กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำฝน น้ำท่า อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้า ระวังปริมาณน้ำฝน และน้ำท่าจากตอนบน เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลากปี 2564 กรมชลประทาน จะติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ หากมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณน้ำหลากเพิ่มขึ้น จะประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ทราบต่อไป

No Comments

    Leave a Reply