News

ชป.ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ตามนโยบายของ กอนช.

19/05/2021

กรมชลประทาน ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงหน่วยงานส่วนกลางและระดับพื้นที่ทั่วประเทศ ขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ภายใต้การกำกับของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

เช้าวันนี้ (19 พ.ค.64) ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 “บูรณาการเชื่อมโยงจัดการน้ำทั่วไทยด้วย 10 มาตรการรับมือฝน 64” โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุม และ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Video Conference เพื่อนำเสนอผลสัมฤทธิ์ของการจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 63/64 และความพร้อมดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือช่วงฤดูฝนปี 64 รวมถึงหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมฯ ว่า สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน (18 พ.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 35,953 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การ 12,024 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 มากกว่าปีที่แล้ว 1,661 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีก 40,114  ล้าน ลบ.ม. สำหรับมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ในส่วนของกรมชลประทาน ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อรองรับน้ำหลาก โดยการจัดสรรน้ำในต้นฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 1,900 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ พืชต่อเนื่อง 1,655 ล้าน ลบ.ม. และจัดสรรน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำอีก 245 ล้าน ลบ.ม. จนถึงวันเก็บเกี่ยวประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2564 ก่อนจะใช้พื้นที่ทุ่งบางระกำเป็นพื้นที่รับน้ำหลากได้ประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา การทำนาปีได้เน้นย้ำให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก หากมีฝนที่ตกสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ลุ่มต่ำอีกหลายแห่งที่จะใช้เป็นพื้นที่รับน้ำนอง ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากทุกภาคส่วนแล้ว อาทิ ทุ่งบางพลวง จ.ปราจีนบุรี ทุ่งลุ่มน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด ทุ่งประตูระบายน้ำบ้านยางซ้ายและทุ่งปากพระ จ.สุโขทัย และ    ทุ่งทรายทองวัฒนา จ.กำแพงเพชร เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมชลประทานได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวมทั้งเขื่อนระบายน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ในปัจจุบัน ช่วยลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำให้มากที่สุด และเตรียมการในการรับมือในกรณีน้ำหลาก รวมถึงกำหนดบทบาทความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ ตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการภายใต้ กนช.

สำหรับมาตรการซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตร นั้น กรมชลประทานได้รับการจัดสรรงบประมาณตาม พ.ร.บ. 2564 เพื่อดำเนินการซ่อมแซมและปรับปรุง โครงการชลประทานจำนวน 5,721 รายการ งบประมาณ 13,538 ล้านบาท โดยทุกรายการจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 ทั้งนี้ หากเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลากได้เต็มประสิทธิภาพ และยังช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกประมาณ 835,337 ไร่

No Comments

    Leave a Reply