สถานการณ์ขณะนี้ มีปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย การจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนจึงจำเป็นต้องอาศัยปริมาณน้ำจากฝนเป็นจำนวนมาก จึงขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนเกษตรกรขอให้เพาะปลูกตามแผนที่วางไว้ พร้อมใช้น้ำจากแหล่งน้ำของตนและน้ำฝนเป็นหลัก
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำ
ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(19 มิ.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 32,312 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,664 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,694 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 998 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (19 มิ.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,919 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,488 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของแผนจัดสรรน้ำฯ
ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ล่าสุด(ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิ.ย. 63) ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้ว ประมาณ 4.43 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 16.79 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 1.88 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 23 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่)
กรมชลประทาน จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำตลอดฤดูฝน ปี 2563 โดยวางแผนและจัดสรรน้ำเพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ เก็บกักปริมาณน้ำให้มากที่สุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูแล้งหน้าได้อย่างไม่ขาดแคลน ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มลุ่มน้ำเจ้าพระยาในแม่น้ำทั้ง 4 สาย(แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำปราจีน-บางปะกง, แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง)บริเวณสถานีที่สำคัญอยู่ในเกณฑ์ควบคุม แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
No Comments