นางสาวเสาวลักษณ์ ศุภกมลเสนีย์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในผลิตผลทางการเกษตรที่จะต้องมีมาตรฐานรองรับ เช่น มาตรฐาน GAP มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น หากสินค้าเกษตรมีการรับรองมาตรฐานก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้ ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านการควบคุมคุณภาพผลิตผลเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อเกษตรกรในด้านสุขภาพอนามัยของเกษตรกรเองด้วย การยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรเข้าสู่มาตรฐานจึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเกษตรกร ทั้งผู้นำกลุ่มเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ตามระบบมาตรฐาน สามารถปรับเปลี่ยนการปฏิบัติในฟาร์ม/แปลง ให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐาน และมีความพร้อมในการขอรับรองตามมาตรฐาน
ทั้งนี้ มกอช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการพัฒนา ที่ปรึกษาเกษตรกรด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรขึ้น โดยในช่วงเดือนมกราคม 2565 มีกิจกรรมการฝึกอบรมหลักสูตรที่ปรึกษาเกษตรกร ในรูปแบบการบรรยายออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม มีความรู้ ความเข้าใจเกณฑ์กำหนดของมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice: GAP) และเกษตรอินทรีย์ (Organic agricultural) รวมถึงมีทักษะในการใช้รายการตรวจประเมินแปลง (checklist) และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนมีความพร้อมในการขอการรับรองได้ โดยแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรที่ 1 การฝึกอบรมที่ปรึกษาเกษตรกรด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) และหลักสูตรที่ 2 การฝึกอบรมที่ปรึกษาเกษตรกรด้านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมหลักสูตรละ 200 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมหม่อนไหม กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
“การยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ในฐานะของที่ปรึกษาเกษตรกร ให้มีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะในเรื่องเกณฑ์ข้อกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหารและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างถูกต้อง มีความสามารถและทักษะการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ให้มีความรู้พื้นฐานด้านความปลอดภัยอาหารและการจัดการกระบวนการผลิตในฟาร์ม สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์กำหนดของมาตรฐาน GAP พืชอาหารและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ ตลอดจนมีความความพร้อมที่จะขอการรับรอง ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ นำไปสู่การพัฒนาในระบบการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศไทยให้มีคุณภาพและศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก” รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว
No Comments