ฝนที่ตกหนักและตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าและน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น หากมีแนวโน้มที่ดีไปจนถึงสิ้นฤดูฝนประมาณเดือนตุลาคม คาดว่าจะสามารถเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆได้พอสมควร หวังมีน้ำสำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าอย่างเพียงพอ
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(21 ส.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 32,302 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,942 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 38,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,665 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,969 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,000 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (ตั้งแต่ 1 พ.ค. – 21 ส.ค. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 8,250 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 69 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,764 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือน้ำที่จะต้องจัดสรรอีกเพียง 486 ล้าน ลบ.ม. ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปีทั้งประเทศ ล่าสุด(ข้อมูล ณ วันที่ 19 ส.ค. 63) ทำการเพาะปลูกไปแล้ว 11.23 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 66 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 16.79 ล้านไร่) เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำการเพาะปลูกไปแล้ว 4.56 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 56 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวแล้ว 0.44 ล้านไร่
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 – 20 สิงหาคม 2563 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯรวมกันประมาณ 3,400 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลเข้ารวมกันประมาณ 1,600 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำและระบายน้ำตามแต่ละช่วงเวลา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำต้นทุน และแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลน นอกจากนี้ ยังกำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งทั่วประเทศ จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังเจ้าหน้าที่ ให้พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ในทุกสถานการณ์ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ การกำจัดวัชพืชในลำน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ
No Comments