นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. เป็นองค์กรนำด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นที่ยอมรับระดับสากลและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศให้ได้มาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสอดรับกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยปีนี้ได้กำหนดแนวคิด “Go Green Go Global ขับเคลื่อนงานด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนสู่สากล” ภายใต้หลัก 3S ได้แก่ Safety หรือ Food Safety ความปลอดภัยทางอาหาร Security ความมั่นคงทางอาหาร และ Sustainable ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งเน้นการทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตร พร้อมกับสร้างระบบให้มีมาตรฐานและการมีส่วนร่วมเพื่อการยอมรับสู่สากล
Go Green การทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม : มาตรฐานสินค้าเกษตร: สร้างความยั่งยืน โดย มกอช. ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบการผลิตข้าวยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต มีความรู้ ความเข้าใจตามข้อกำหนดของ มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ข้าวยั่งยืน (มกษ. 4408-2565) และจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐาน ซึ่งมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าว ต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม มีสมาชิกที่สนใจเข้าสู่ระบบการผลิตข้าวยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มุกดาหาร และสกลนคร รวม 300 ราย นอกจากนี้ มกอช. ยังได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีปลอดการเผาสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง ได้รับพิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร การประชุมคณะกรรมการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 โครงการศึกษาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร เพื่อเตรียมความพร้อมทางการค้า และพัฒนาการผลิตอย่างยั่งยืน
Go Global : การสร้างระบบให้มีมาตรฐาน : การมีส่วนร่วมเพื่อการยอมรับสู่สากล ได้ดำเนินการตั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำ ได้แก่ มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับพืชอาหาร (มกษ. 9001-2564) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การผลิต การแปรรูป การแสดงฉลาก และการจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ (มกษ. 9000-2564) ส่วนกลางน้ำ ได้แก่ มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด (มกษ. 9047-2560) มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (มกษ. 9035-2563) มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีโรงฆ่าโคและกระบือ (มกษ. 9019-2550) และหลักการทั่วไปด้านสุขลักษณะอาหาร: การปฎิบัติทางสุขลักษณะที่ดี (GMP) และมาตรฐานการปฏิบัติที่ดี อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ ปลายน้ำ ได้แก่ โครงการร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัย (Q Restaurant) ปัจจุบันมี 3,055 แห่ง และ Q Restaurant Premium 108 แห่ง ใน 23 จังหวัด โครงการตรวจรับรองสถานที่จำหน่ายสินค้า Q ประเภทโมเดิร์นเทรด (Q Modern Trade) โครงการรับรองสถานที่จำหน่ายสินค้า Q (Q Market) โครงการโรงเรียนอาหารปลอดภัย (Q Canteen) และโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย (Q Hospital) ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าพัฒนาโรงพยาบาลต้นแบบนำร่อง 3 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ. ปทุมธานี และโรงพยาบาลปทุมธานี จ. ปทุมธานี
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถเชื่อมั่นในความปลอดภัยของสินค้าเกษตรกรได้ เนื่องจาก มกอช. ได้มีการส่งเสริมเกษตรกร ผู้ประกอบการ ใช้ระบบระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) โดยรองรับสินค้าในกลุ่มผัก ผลไม้ ข้าว ปศุสัตว์ ไข่ ประมง สินค้าแปรรูป/อาหาร รวมทั้งพัฒนาเว็บไซต์ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ www.dgtfarm.com เพื่อเป็นช่องทางการซื้อขายสินค้าเกษตรปลอดภัย มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรอง ในรูปแบบออนไลน์
“อย่างไรก็ดี อยากฝากถึงผู้บริโภคการเลือกบริโภค และเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ให้มองหาสินค้าที่มี ตราสัญลักษณ์ Q และ Organic Thailand ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะสินค้าที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รับมาตรฐานเกษตรไทย มีความทัดเทียมกับมาตรฐานเกษตรโลก ความปลอดภัยต่อสุขภาพ รวมไปถึงการสร้างความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” เลขาธิการ มกอช. กล่าว
No Comments