News

สทนช.เดินหน้าแผนหลักบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เร่งออกแบบวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก พร้อมเตรียมแผนรับมือเอลนีโญยาวถึงปี 68

22/08/2023


นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จังหวัดบึงกาฬมีปริมาณฝนตกในพื้นที่เฉลี่ย 1,557 มิลลิเมตรต่อปี ประกอบกับสภาพพื้นที่เป็นภูเขาที่มีความสูงชัน โดยบริเวณเทือกเขาต่างๆ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะระหว่างภูเขา โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอเซกา และอำเภอบึงโขงหลง ทำให้ในฤดูฝนน้ำจะไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่จังหวัด จึงจำเป็นต้องเร่งการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง ในขณะที่ฤดูแล้งจังหวัดบึงกาฬประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จากการศึกษา พบว่า ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปี มีค่ามากกว่าความต้องการใช้น้ำรวมทั้งปี โดยในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเมษายน ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยมีไม่เพียงพอกับ ความต้องการใช้น้ำ ส่วนในฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยมีค่ามากกว่าความต้องการใช้น้ำ

ปัจจุบันปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่ 1 ม.ค. 66 ถึงปัจจุบัน น้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 19 และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 13 สำหรับสถานการณ์น้ำ ณ ปัจจุบัน ของ จ.บึงกาฬ โดยมีแหล่งน้ำทั้งหมด 1,448 แห่ง สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 35 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยกว่า ปี 65 อยู่ประมาณ 13 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้มีการศึกษา โครงการในการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งจังหวัด 1200 กว่าโครงการ ถ้าดำเนินการได้ จะได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 28 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 4 หมื่นไร่ ลดน้ำท่วมได้ 2 หมื่นไร่ ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 และมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ 3 มาตรการอย่างเคร่งครัด และกำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนการรับมือ จากสถานการณ์เอลนีโญเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ทันกับสถานการณ์ ยาวไปจนถึงปี 2568

สทนช. เริ่มดำเนินการโครงการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรและกลุ่มที่ปรึกษาเอกชน โดยดำเนินการศึกษาทั้งด้านการจัดทำแผนบูรณาการตามสภาพปัญหาพื้นที่ในเชิงลึกจัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดและจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้น ที่สำคัญเร่งด่วนตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พร้อมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศและ

งานด้านประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม ที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่พบปะประชาชนกว่า 6 ครั้ง ผ่านกิจกรรมการประชุมปฐมนิเทศ การประชุมกลุ่มย่อย และการสนทนากลุ่ม โดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,300 คน เพื่อสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะนำมาประกอบการจัดทำแผนบูรณาการ (Integrated Master Plan) พร้อมจัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 66

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาได้มีการคัดเลือกแหล่งน้ำที่มีศักยภาพในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ จำนวน 13 แห่ง ในทุกอำเภอเพื่อทำโครงการเบื้องต้นเร่งด่วนในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ปัญหาแหล่งน้ำตื้นเขิน และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับแหล่งน้ำได้อย่างเป็นระบบ เพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตรและภาคการผลิตอย่างเพียงพอ
ทั้งนี้ หนองเลิง สามารถเก็บกักน้ำเต็มศักยภาพได้ 18.478 ล้าน ลบ.ม. เป็นหนึ่งในพื้นที่เร่งด่วนในการพัฒนา แหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้งซ้ำซาก ประกอบกับพื้นที่เป็นที่ลุ่มซึ่งมี
ความเหมาะสมที่จะออกแบบเป็นแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยออกแบบให้มีการขุดลอกทางน้ำเข้า ระบบกระจายน้ำ เพื่อให้น้ำสามารถไหลเข้าสู่หนองเลิงได้สะดวก พร้อมทั้งขุดลอกทางน้ำเข้า-ออกจากแม่น้ำสงครามด้วย เนื่องจากคลองเชื่อมต่อระหว่างหนองเลิงกับแม่น้ำสงคราม ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน หากโครงการปรับปรุงและฟื้นฟูหนองเลิง พร้อมระบบกระจายน้ำ ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอพรเจริญ จะส่งผลให้ในอนาคตปัญหาการขาดแคลนน้ำจะลดลง และมีการปรับปรุงการใช้น้ำเพื่อการเกษตรให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งหมายถึงจะมีการปลูกพืชเศรษฐกิจแทนข้าวในฤดูแล้งปัจจุบันพบปัญหาการเจริญเติบโตของวัชพืชน้ำ (จอกหูหนูยักษ์)จำนวนมากในพื้นที่ 2 พันไร่ จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา และจัดหางบประมาณ เพราะพื้นที่ดังกล่าว เป็นแหล่งท่องเที่ยว และยังสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้

ทั้งนี้สำหรับภาพรวมในแก้ปัญหารับเอลนิโญ ทั้งประเทศนั้น กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีมาตรการเพิ่มมาอีก 3 มาตรการในแก้ปัญหา เช่น จัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำ ,การส่งเสริมการใช้พืชน้ำน้อย และมีการเสนอคณะรัฐมนตรี ให้เห็นชอบต่อไป และจะติดตามและประเมินอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด

 

No Comments

    Leave a Reply