กรมชลประทาน พร้อมรับมือน้ำหลากลุ่มน้ำเจ้าพระยา สั่งจับตาเฝ้าระวังสถานการณ์ 24 ชั่วโมง ประสานหน่วยงานในพื้นที่ให้แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องแล้ว
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 20 – 22 กันยายน 2564 และกรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมาย ในช่วงวันที่ 23 – 26 กันยายน 2564 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างจะมีกำลังแรงขึ้น และในช่วงวันที่ 27 – 28 กันยายน 2564 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั้น
วันนี้ (23 ก.ย. 64) กรมชลประทาน ได้ทำการตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,962 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรังที่สถานีวัดน้ำ Ct.19 จังหวัดอุทัยธานีอีก 126 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,609 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีการรับน้ำเข้าระบบชลประทาน ทั้งสองฝั่งรวมจำนวน 477 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทาน มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน บริเวณตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1.00 เมตร ในช่วงวันที่ 24 – 26 กันยายน 2564 หากมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณน้ำหลากเพิ่มขึ้น ที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบต่อไป
อนึ่ง กรมชลประทาน ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ พร้อมทั้งได้ประสานแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งผู้ประกอบกิจการ ในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งทำการปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมทั้งเตรียมแผนป้องกันเหตุ โดยเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้านทุกแห่ง เพจ facebook กรมชลประทาน https://www.facebook.com/Kromchon หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
No Comments