นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในปัจจุบันว่า จากปัญหา ASF โรคระบาดในสุกรที่พบในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันยังคงพบปัญหานี้บางพื้นที่ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงต่างระมัดระวังและบริหารความเสี่ยงด้วยการหยุดเข้าเลี้ยงสุกรไปก่อน ส่วนในรายที่ยังคงเลี้ยงสุกรอยู่ต้องปรับวิธีการเลี้ยงและการจัดการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 300 บาทต่อตัว ซึ่งเกษตรกรยินดีแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดในฝูงสัตว์ของตนเอง อย่างไรก็ตาม กลับพบว่ายังคงมี “ขบวนการลักลอบ” นำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนผิดกฎหมายจากหลายประเทศ อาทิ เยอรมัน บราซิล แคนาดา อิตาลี เกาหลี เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา โดยสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าอื่น อาทิ เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเล นำมากระจายขายปะปนกับหมูไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะตลาดแถวนครปฐมและราชบุรี ซึ่งถือเป็นการบ่อนทำลายเกษตรกรไทย ผู้บริโภค และเศรษฐกิจชาติ
“ในขณะที่ทุกคนในวงการเลี้ยงหมูต่างพยายามป้องกันโรค ASF และพยายามผลักดันให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ให้เร็วที่สุด ซึ่งทั้งเกษตรกร ภาคเอกชน และทุกคนในแวดวงผู้เลี้ยงได้ช่วยกันในทุกด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรกลับเข้าสู่ระบบอย่างมั่นใจและรวดเร็ว แต่กลับมี “ไอ้โม่ง” ที่ทำมาหาทำกินบนความทุกข์ของคนเลี้ยงหมูและคนไทย ขบวนการนี้ใช้วิกฤติเพื่อหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง โดยไม่สนใจว่าเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้านั้น มีโรคหมูที่เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อระบบการเลี้ยงหมูของไทย และยังปนเปื้อนสารอันตรายอย่างเช่นสารเร่งเนื้อแดงซึ่งเป็นสารต้องห้ามและผิดกฎหมายไทย ตามพ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ และยังก่อผลกระทบร้ายแรงต่อผู้บริโภค ที่สำคัญรัฐต้องสูญเสียรายได้จากสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีตามระบบ เกษตรกรจึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ เร่งสกัดกั้นและกวาดล้างขบวนการนี้ให้สิ้นซาก ถ้ายังปล่อยให้หมูเถื่อนลอยนวล คนเลี้ยงหมูก็ตายสนิท คนไทยก็ตายผ่อนส่ง เศรษฐกิจไทยย่ำแย่แน่นอน” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์ราคาสุกร นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ราคาสุกรยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 94-98 บาทต่อกิโลกรัม โดยการปรับราคาขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตและการบริโภคในแต่ละภูมิภาคเป็นตัวกำหนด ตามกลไกตลาดที่แท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรทั่วประเทศต่างร่วมกันบริหารจัดการผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ และคงระดับราคาไว้ไม่เกิน 100 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน แม้ว่าจะมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งจากการปรับปรุงระบบการเลี้ยงและการป้องกันโรค ต้นทุนค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตลอด ค่าไฟ ค่าพลังงานโดยเฉพาะค่าน้ำมันที่รัฐบาลจะเลิกตรึงราคา 30 บาทต่อลิตร ในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ และยังมีภาระค่าใช้จ่ายค่าน้ำใช้ ที่เกษตรกรหลายพื้นที่ต้องซื้อน้ำใช้แล้วจากผลกระทบของภัยแล้ง รวมถึงอากาศร้อนและแปรปรวนส่งผลต่ออัตราสูญเสียในฟาร์มเลี้ยงที่สูงขึ้น ทำให้ผู้เลี้ยงมีต้นทุนสูงถึงกว่า 98 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานจึงถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกร.
No Comments