แม้ในระยะนี้ประเทศไทยทางตอนบน โดยเฉพาะภาคอีสานจะมีฝนตกลงมาบ้างในบางพื้นที่ แต่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำโดยรวมของทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย จึงต้องบริหารจัดการตามแผนการใช้น้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำประชาชนในพื้นที่ต่างๆ รับทราบอย่างทั่วถึง
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ยังดำเนินการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้ประชาชนได้มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ พร้อมเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับทราบอย่างทั่วถึง
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(26 มี.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 38,765 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุเก็บกักรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 15,050 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,388 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 38 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 2,692 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (26 มี.ค. 63) มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้ว 13,707 ล้าน ลบ.ม.(แผนฯ 17,699 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้วประมาณ 3,691 ล้าน ลบ.ม.(แผนฯ 4,500 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนฯ
สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/63 (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มี.ค. 63) มีการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 4.73 ล้านไร่ เกินแผนไปแล้วร้อยละ 66 เก็บเกี่ยวแล้ว 1.91 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 4.20 ล้านไร่(แผน 2.31 ล้านไร่) เกินแผนไปร้อยละ 81 เก็บเกี่ยวแล้ว 1.81 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืชเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการเพาะปลูกพืชนอกแผนฯ ไปแล้วประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.37 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก
ทั้งนี้ ได้สั่งการโครงการชลประทานทุกแห่ง ลงพื้นที่ช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้บริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างไรเคร่งครัด รวมไปถึงบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้งการจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ประจำไว้ตามโครงการชลประทานทั่วประเทศ ที่พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนและให้การช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนนี้
No Comments