แม้ว่าปัจจุบันทุกพื้นที่ทั่วประเทศกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคไวรัสโควิด19 แต่ในภารกิจหลักของกรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าปฏิบัติงานบริหารจัดการน้ำและช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ยังคงปฏิบัติภารกิจหลักด้านการบริการจัดการน้ำและการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทั่วประเทศ อาทิ ที่จังหวัดอุทัยธานี โครงการชลประทานอุทัยธานี นำรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค ให้กับราษฎรพื้นที่หมู่ 1 ตำบลหนองแก และ หมู่ 2 ตำบลหนองเต่า อำเภอเมืองอุทัยธานี
พร้อมทั้งช่วยดับไฟป่าในพื้นที่ตำบลหนองแกด้วย ที่จังหวัดนครปฐม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล ได้ดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำท่าจีน ลำเลียงผ่านคลองพระพิมลมายังแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยผลักดันความเค็มที่รุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่กระทบต่อน้ำดิบผลิตประปาของการประปานครหลวง
ด้านจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 ส่งเครื่องสูบน้ำไปช่วยเหลือชาวสวนลำไยกว่า 800 ไร่ ในพื้นที่ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ ที่จังหวัดชลบุรี สำนักงานชลประทานที่ 9 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองใหญ่ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของศูนย์ขยายพันธ์พื้นที่ 1 ชลบุรี ที่จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานชลประทานที่3 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณปากคลองฉลอง (DL.1 กม.22+500) ช่วยเหลือชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือน ในพื้นที่ตำบลมะต้อง อำเภอพรหมพิราม พร้อมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณปากคลองระบายน้ำ DR.1-19L และ DR.1-21L -22L-3L บ้านแม่ระหัน ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง และเตรียมพร้อมรับการระบายน้ำในช่วงฤดูฝนหน้า
อนึ่ง กรมชลประทาน มีความห่วงใยประชาชนทุกพื้นที่ ในยามวิกฤตการระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 และยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมชลประทานยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของกรมฯอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ในขณะเดียวกันยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับ ปฏิบัติตามมาตรการของศูนย์ประสานการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรค
No Comments