News

คณะอนุกรรมการติดตาม-ขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

15/01/2020

วันนี้ (15 มกราคม 2563) เวลา 09.30 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 1/2563 โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง และคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเลย อำเภอเมือง จังหวัดเลย


สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เพื่อรับทราบผลการสรุปภาพรวมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวน 88 โครงการ รวมไปถึงสถานะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้ดำเนินงานติดตามและขับเคลื่อนฯ จำนวน 14 โครงการ และสถานการณ์น้ำในเขตลุ่มน้ำเลยซึ่งการประชุมในครั้งนี้กรมชลประทานได้สรุปชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในพื้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการดำเนินโครงการในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำเลย ทั้ง 8 โครงการ เพื่อเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำให้กับราษฎรในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอในอนาคต โดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยต้นน้ำใช้การตัดยอดน้ำเพื่อเก็บกักน้ำ กลางน้ำใช้การหน่วงน้ำ และปลายน้ำระบายออกสู่ลำน้ำโขง


ในการนี้ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณาการเพื่อผลักดันให้โครงการต่างๆ สามารถดำเนินการไปได้ตามแผนที่กำหนดจากนั้นในเวลา 14.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำเลย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ให้การต้อนรับพร้อมทั้งรายงานบรรยายสรุปโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำเลย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมโครงการฯ ณ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำเลย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแก่งศรีภูมิ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2520 ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการชลประทานลุ่มแม่น้ำเลย โดยพิจารณาวางโครงการเขื่อนเก็บน้ำน้ำเลย (บ้านหัวกะโปะ) เขื่อนเก็บกักน้ำน้ำทบ (บ้านโพนงาม) และเขื่อนเก็บกักน้ำน้ำลาย (บ้านภูบ่อบิด) เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรในลุ่มน้ำเลยทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรพิจารณาสร้างฝายน้ำหรือเขื่อนทดน้ำตามความเหมาะสมในลำน้ำเลยตอนล่าง เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกผืนใหญ่สองฝั่งแม่น้ำเลย ในเขตอำเภอเชียงคานโดยระบายน้ำจากเขื่อนเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำเลยตอนบน มาเสริมปริมาณน้ำธรรมชาติที่ฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำตอนล่าง


ซึ่งจังหวัดเลย มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 3,890 ตร.กม. มีแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเหือง แม่น้ำพอง และแม่น้ำเลย ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 1,153 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี แต่มีแหล่งเก็บกักน้ำความจุรวมเพียง 85.42 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 7.41% ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยเท่านั้น โดยน้ำส่วนที่เหลือถูกปล่อยให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงแทบทั้งสิ้น


กรมชลประทานได้น้อมนำแนวพระราชดำริและศาสตร์พระราชา ไปใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มแม่น้ำเลย ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยบริเวณต้นน้ำมีการวางแผนสร้างอ่างเก็บน้ำจำนวน 8 โครงการ เพื่อเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำ บริเวณกลางน้ำมีการสร้างฝาย จำนวน 6 ฝาย เพื่อใช้ในการหน่วงน้ำ
และบริเวณปลายน้ำมีการดำเนินโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะช่วยเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเลยลงแม่น้ำโขง ส่วนช่วงน้ำโขงหนุน ประตูจะปิดบานกั้นน้ำโขงไม่ให้ไหลเข้ามาในแม่น้ำเลยอีกทางหนึ่งสำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำเลย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเลย มีลักษณะเป็นเขื่อนดิน สูง 30.8 เมตร ความยาว 570 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 35.807 ล้าน ลบ.ม. พร้อมอาคารประกอบและระบบส่งน้ำ สามารถระบายน้ำหลากได้ 1,160 ลบ.ม./วินาที (วันละ 100 ล้าน ลบ.ม.) ถือเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภค-บริโภค ของราษฎร 2 อำเภอ 5 ตำบล 27 หมู่บ้าน สร้างประโยชน์จากการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเพื่อการเกษตร แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ส่งเสริมการผลิตน้ำประปา รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่

No Comments

    Leave a Reply