News

“ปรเมศวร์” หวั่นร่างกฎกระทรวงใหม่บอนไซสหกรณ์ทั่วประเทศ ชี้รับเกณฑ์ “คลัง-แบงก์ชาติ” หวังคุมกำเนิดสหกรณ์ จ่อฟ้องศาลปกครอง ทบทวนกฎกระทรวงเกษตรฯ ทำลายระบบสหกรณ์ทุกประเภท

09/12/2020

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) กล่าวถึงกรณีผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ยื่นข้อเรียกร้องให้ชะลอการออกร่างกฎกระทรวงใหม่ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 รวม 5 ฉบับว่า ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 มาตรา 89/2 ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งกฎเกณฑ์ที่ออกมาขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน โดยเฉพาะสมาชิกสหกรณ์ที่เป็นข้าราชการครู พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตำรวจ ทหาร หลายฝ่ายไม่สบายใจ เพราะมีการกำหนดการกู้ ต้องเหลือเงินเดือนไม่น้อยกว่า 30% ผ่อนชำระ 150 งวด ประกอบกับนำเครดิตบูโรมาประกอบการพิจารณากู้เงิน โดยที่ผ่านมาสหกรณ์มีการดำเนินการด้านธุรกรรมมาเป็นอย่างดี ไม่ได้ยึดกฎเกณฑ์นี้ เพราะต้องการให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่ถูก แต่การออกกฎกติกาใหม่ ซึ่งออกโดยแนวความคิดของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการนำระบบธนาคารมาใช้กับสหกรณ์ ทำให้สมาชิกไม่สามารถกู้เงินได้ ทำให้สมาชิกสหกรณ์มองว่า ฝ่ายรัฐผลักให้คนขบวนการสหกรณ์ไปกู้เงินนอกระบบมากขึ้น

“แม้ที่ผ่านมาจะมีการทำประชาพิจารณ์ แต่เมื่อดูร่างกฎกระทรวงใหม่ กับไม่มีความเห็นของสมาชิกสหกรณ์ เข้าไปอยู่ในกฎกระทรวง ยังเป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง และ ธปท. สมาชิกสหกรณ์จึงมองว่า กำลังถูกผลักให้ไปอยู่หนี้นอกระบบหรือไม่ ที่ผ่านมา สหกรณ์ไม่เคยฟ้องสมาชิกให้ล้มละลาย แต่เราเคยถูกธนาคารฟ้องให้สมาชิกสหกรณ์ล้มละลาย เป็น 100 คน รวมทั้งเวลาข้าราชการไปกู้เงินธนาคาร เคยดูหรือไม่ว่า เงินเดือนเราเหลือ 30% ก็ไม่เคยดู และคนสหกรณ์อึดอัดถูกกล่าวโทษว่า เรื่องหนี้สินครัวเรือนมากเพราะสหกรณ์ แต่ความจริงไม่ใช่ หนี้สินครัวเรือนมากอยู่ที่ภาคธนาคาร เช่น บัตรเครดิต ใช้โดยไม่ต้องสนใจเงินเดือน จนมาถึงจุดที่สมาชิกสหกรณ์ไม่สบายใจจึงได้ออกมาเรียกร้องดังกล่าว”ประธานกรรมการดำเนินการ สสท. กล่าว

นายปรเมศวร์ กล่าวอีกว่า การที่สมาชิกสหกรณ์รวมตัวยื่นข้อเรียกร้องในวันนี้ เพราะเห็นว่า ประชาชนในระดับพื้นฐาน ที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก ควรที่จะอยู่ได้ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยตรงนี้ ฟังกันใหม่ ดูกันใหม่ แม้ว่านายทะเบียนสหกรณ์ จะระบุว่า มีบทเฉพาะกาล แต่ยังไม่เห็นความชัดเจนว่า จะแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ได้อย่างไร ซึ่งขณะนี้ ทาง สสท. ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำกัด (ชสค.) พยายามสร้างวินัยทางการเงินให้กับสมาชิกสหกรณ์ และกรรมการดำเนินการสหกรณ์ แต่อาจจะมีบ้างที่มีการแตกแถว เราก็พยายามจะปรับ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ดีขึ้น

“คนสหกรณ์มองว่า การที่ภาครัฐพยามทำให้สหกรณ์เล็กลง หรือ บอนไซสหกรณ์ เช่น ปีที่ผ่านมา เรามีเงินทุน 3 ล้านบาท มีกำไรอยู่ในระบบทั้งหมดที่กลับคืนไปสู่สมาชิก 9 หมื่นล้านบาท ถ้าถูกแบ่งแยก หรือถูกซอยไปอยู่กับสถาบันการเงินอื่นๆ สหกรณ์ก็จะเล็กลง ซึ่งจริงๆ ระบบเศรษฐกิจฐานรากขึ้นอยู่กับขบวนการสหกรณ์ จึงเป็นสาเหตุให้มีการชุมนุมในวันนี้ เราไม่สามารถไปสกัดกั้นได้ ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็นบ้าง”นายปรเมศวร์ กล่าว

นายปรเมศวร์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หากกฎกระทรวงใหม่ที่ออกมา ไม่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 วรรค 3 ระบุว่า รัฐพึ่งส่งเสริมคุ้มครองรักษาเสถียรภาพระบบสหกรณ์ทุกประเภท มีการทำลายระบบสหกรณ์ หรือผิดหลักการสหกรณ์ 7 ข้อ ทาง สสท. พร้อมให้การช่วยเหลือ โดยจะยื่นศาลปกครองให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ อยากฝากไปยังรัฐบาล ให้ช่วยดูแลสมาชิกสหกรณ์ รักษาสหกรณ์ไว้ให้ได้ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินต่อไปได้

No Comments

    Leave a Reply