ตามแผนการปฏิรูปประเทศ ในหัวข้อที่ 3 : การปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ หัวข้อย่อย 3.3 : เสนอให้มีการจัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการบริหารการส่งเสริมผลิตภาพ การมาตรฐาน และนวัตกรรมแห่งชาติ” ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการกำหนดนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการบริหารจัดการด้านการส่งเสริมผลิตภาพ การมาตรฐาน และนวัตกรรมของประเทศ โดยให้ย้ายหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Body: AB) ของประเทศที่อยู่ภายใต้ การดำเนินงานของ 4 กระทรวง ได้แก่
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (วพ.) กระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มารวมเป็นหน่วยงานเดียวกันภายใต้สำนักงานฯ ดังกล่าว ภายในปี 2563 โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า การดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม เนื่องจากหน่วยงานแต่ละแห่งต่างมีภารกิจที่แยกจากกันมาโดยตลอด การควบรวมหน่วยงานจึงเป็นกระบวนการที่ต้องหารือร่วมกันอย่างละเอียด โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอข้อคิดเห็นว่า ควรมีการหารือกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะหน่วยงาน AB ที่ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินงานภายใต้ประเด็นปฏิรูปนี้ รวมทั้งให้มีการขยายเวลาในการผลักดันเรื่องนี้ออกไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม
จากข้อคิดเห็นของ สศช. AB ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้หารือและพิจารณาการดำเนินงานร่วมกัน และมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะดำเนินการบูรณาการทำงานในรูปแบบเครือข่าย (Single platform) ซึ่งจะทำให้ลดความซ้ำซ้อนในการตรวจสอบและรับรอง มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งลดขั้นตอนการทำงานและเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการรับรองระบบงาน โดยภายใต้โครงสร้างการบริหารงานในรูปบบเครือข่าย (Single platform) มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) โดยมีหัวหน้าส่วนราชการทั้ง 4 หน่วยงาน เป็นประธานร่วม และผู้แทนจาก AB ทั้ง 4 แห่ง ร่วมเป็นคณะกรรมการ และแต่งตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน
ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ มกอช. ในการร่วมบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเผยแพร่มาตรฐานต่างๆไปสู่ผู้ใช้ รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับผู้ใช้เกี่ยวกับมาตรฐาน ปัจจุบัน มกอช. ได้มีการประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร รวมจำนวน 356 เรื่อง แบ่งเป็น มาตรฐานทั่วไป 350 เรื่อง และมาตรฐานบังคับ ที่บังคับใช้แล้ว 6 เรื่อง แต่ไม่สามารถเผยแพร่มาตรฐานไปสู่ผู้ใช้ อาทิ เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตร ได้อย่างทั่วถึง ฉะนั้น หน่วย AB จึงถือเป็นเครือข่ายพันธมิตรที่สำคัญ ในการเผยแพร่มมาตรฐาน และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน
ดังนั้น ผู้บริหารสูงสุดของ AB ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการร่วมมือกันทางด้านการรับรองระบบงาน จึงเห็นควรให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การรับรองระบบงานในประเทศไทยแบบเครือข่าย (Single platform) เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือด้านการบริหารงาน และข้อตกลงการดำเนินการด้านการรับรองระบบงานระหว่าง AB ทั้ง 4 แห่ง ซึ่งเป็นการลงนามระหว่างนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กับนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยมีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานสักขีพยาน
“มกอช. มีความยินที่จะสนับสนุนให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกกระทรวงฯ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนาการรับรองระบบงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มความรวดเร็ว ใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาล”เลขาธิการ มกอช. กล่าวทิ้งท้าย
No Comments