News

“สวพ.8”  ชูผลงานวิจัยสร้างรายได้คนชุมชน 5 โมเดล ผ่าทางรอดวิกฤติเศรษฐกิจช่วงโควิด-19

18/02/2021

“ สวพ.8” ผ่าทางรอดวิกฤติเศรษฐกิจ    เชิญชวนชาวบ้านเข้ามาเรียนรู้ผลงานวิจัย 5 โมเดลด้าน “เทคนิคการพัฒนาชุมชนเกษตรพึ่งตนเอง”ในชุมชน 5 จว.ภาคใต้  เพื่อนำไปต่อยอด ขยายผลสร้างอัตลักษณ์สินค้าแบรนด์ของชุมชนกระตุ้นรายได้และเศรษฐกิจในชุมชนในช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19 

นายจิระ    สุวรรณประเสริฐ   ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา (สวพ.8)  กรมวิชาการเกษตร   กล่าวว่า   จากภาวะวิกฤติในปัจจุบัน สวพ.8 เร่งหันมาส่งเสริมให้เกษตรกร  หน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไปนำผลงานวิจัยเกี่ยวกับ “เทคนิคการพัฒนาชุมชนเกษตรพึ่งตนเอง” ที่สวพ.8 ทำสำเร็จนำไปต่อยอด เพื่อเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าและรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนในภาวะวิกฤติโควิด-19     ซึ่งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาสวพ.8และหน่วยงานในสังกัดได้ค้นคว้า วิจัย พัฒนา สร้างรูปแบบการพัฒนาชุมชนเกษตรเพื่อการพึ่งตนเองและได้สรุปเป็นรูปแบบ (model) พร้อมนำไปใช้ขยายผลต่อไปได้เลย   โดยผลงานวิจัยทั้งหมดสวพ.8ดำเนินการภายใต้เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ในการพัฒนาเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรแปรรูป    เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ และระบบนิเวศน์เกษตร ตอบสนองยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ   

ด้านนายธัชธาวินท์   สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง   สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา (สวพ.8)  กรมวิชาการเกษตร     กล่าวเพิ่มเติมถึงโมเดลผลงานวิจัย“เทคนิคการพัฒนาชุมชนเกษตรพึ่งตนเอง” ที่สวพ.8ดำเนินการวิจัยสำเร็จและพร้อมถ่ายทอดให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปนำไปต่อยอดเพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลผลิตและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตรของตนเอง

โดยเป็นรูปแบบชุมชนที่พัฒนาโดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ   อาทิ   สร้างอัตลักษณ์สินค้าแบรนด์ของชุมชน ภายใต้ผลงานวิจัย  5 โมเดลกระจายอยู่ใน 5 ชุมชนต้นแบบ   ประกอบด้วย    1. “รำแดงโมเดล : เกษตรตามศาสตร์พระราชา” ต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา

2.“ป่าขาดโมเดล : เกษตรพอเพียง เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์” ต.ป่าขาด อ.สิงหนคร จ.สงขลา 3. “บ้านแคโมเดล : เกษตรยั่งยืน ชุมชนพอเพียง” ต.บ่อแดง อ.สทิงพระ จ.สงขลา 4.

“พัทลุงพืชชุ่มน้ำโมเดล : ชุมชนเข้มแข็ง พืชชุ่มน้ำยั่งยืน” ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง และ ต.แหลมโตนด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และ5.โพรงเข้โมเดล : ปาล์มน้ำมันยั่งยืน จังหวัดตรัง” ต.โพรงจระเข้ ต.ย่านตาขาว จังหวัดตรัง

สำหรับผลงานวิจัยดังกล่าว  เป็นรูปแบบชุมชนที่พัฒนาโดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ อาทิ   การพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง โดยการรวมกลุ่มเกษตรกร ตั้งกองทุนงานบุญ ตั้งวิสาหกิจชุมชนทำธุรกิจจำหน่วยสินค้าแปรรูป   การพัฒนาการผลิตพืชผสมผสาน ตามแนวทาง 9 พืชผสมผสานและเกษตรผสมผสาน พอเพียง   การพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า เช่น  มีการแปรรูปกล้วยฉาบน้ำตาลโตนดรำแดง การสร้างอัตลักษณ์สินค้ากล้วยพรีเมี่ยม    การพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้ามีการแปรรูปขนมตาลโตนด การสร้างอัตลักษณ์สินค้าแบรนด์กล้วยป่าขาด มะม่วงพิมเสนเบาป่าขาด  การจัดเวทีวิจัยสัญจรเยี่ยมบ้านเกษตรกรแลกเปลี่ยนเรียนรู้   เป็นต้น

“สวพ.8 จึงแนะนำให้ชุมชนเกษตร หน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานส่งเสริม  นำผลงานวิจัยทั้ง 5 โมเดนำไปใช้ขยายผลต่อไป เป็นงานวิจัยที่ทำให้ชุมชนเกษตรพึ่งตนเองได้มากขึ้นตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ในการพัฒนาเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรแปรรูป เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ และระบบนิเวศน์เกษตร ตอบสนองยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ แพลตฟอร์ม4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ โปรแกรม13 ในการสร้างนวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม ที่จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการพึ่งตนเองและการจัดการตนเอง ด้วยการสร้างนวัตกรรมชุมชน เกิดเป็นชุมชนนวัตกรรมต้นแบบ ตามแผนงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร เรื่อง “การพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมและเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนเกษตรกรรม ”

ผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเพิ่มหรือดูงานได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา โทรศัพท์ 074 445905-7

No Comments

    Leave a Reply