กรมศุลกากรจีน เปิดเผยตัวเลขนำเข้าเนื้อหมูในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มากถึง 460,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 16% ทุบสถิติการนำเข้าเนื้อสัตว์ทั้งหมดสูงเป็นประวัติการณ์ จากความกังวลด้านปริมาณผลผลิตหมูที่ลดลงมากกว่า 30% นับจากเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เกิดโรคในฤดูหนาว รวมถึงโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF จนส่งผลกระทบต่อฟาร์มเลี้ยงหมูของประเทศ มีการประเมินว่า ขณะนี้จีนมีหมูอยู่ในสต๊อกประมาณ 60-70% เรื่องนี้กลายเป็นภาพสะท้อนความต้องการหมูของประเทศผู้บริโภคเนื้อหมูที่สำคัญที่สุดของโลก
ไม่เพียงในจีนที่ต้องเผชิญกับวิกฤติ ASF แต่แทบทุกประเทศในเอเชียและอาเซียนต่างประสบปัญหาขาดแคลนหมูและราคาหมูพุ่งขึ้นหลายเท่าเช่นกัน เว้นแต่ไทยที่ยังคงป้องกันโรคร้ายแรงในหมูนี้ได้มาเกือบ 3 ปี กลายเป็นไข่แดงที่น่าจับตามอง จากความสามารถในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคได้อย่างเข้มแข็งมากที่สุด ช่วยป้องกันความเสียหายต่ออุตสาหกรรมหมูที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท ทั้งจากการส่งออกหลายหมื่นล้านและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
หมูไทยจึงเป็นที่ต้องการของทุกประเทศต่างๆที่กำลังถูกโรคนี้เล่นงาน ด้วยความเชื่อมั่นว่าไทยไม่มี ASF อย่างแน่นอน ดูได้จากปริมาณการส่งออกหมูของไทย 2 ล้านตัว มูลค่า 13,000 ล้านบาท เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้น 344.30% และยังมีผลิตภัณฑ์จากหมู 43,000 ล้านตัน มูลค่า 5.1 พันล้านบาท ที่เป็นสิ่งยืนยัน และยิ่งทำให้ทุกประเทศยอมรับว่าไทยควบคุมโรคได้ ส่งหมูออกไปขายได้ ในประเทศไม่เคยขาดแคลนหมู ที่สำคัญคนไทยยังได้กินหมู “ราคาต่ำสุดในอาเซียน” จากหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคหมูมีชีวิตราคาสูงกว่าไทยทั้งสิ้น เช่น ฟิลิปปินส์ราคากิโลกรัมละ 116 บาท จีน 110 บาท กัมพูชา 109 บาท เวียดนาม 103 บาท เมียนมา 94 บาท และ ลาว 93 บาท
วันนี้อุตสาหกรรมหมูก้าวหน้าไปอีกขั้น จากความสำเร็จในการผลักดันของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มหมูเป็น “มาตรฐานบังคับ” กลายเป็นมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านปศุสัตว์ที่ทุกฟาร์มต้องปฏิบัติตาม เพื่อเป็นการควบคุมฟาร์มเลี้ยงหมูทั้ง 160,000 ราย ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ให้มีการบริหารจัดการฟาร์มแบบเดียวกัน เพื่อช่วยเสริมศักยภาพในการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์หมูของไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
มาตรฐานนี้จะช่วยยกระดับฟาร์มหมูทั้งหมด และจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้การป้อง ASF แข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะฟาร์มรายย่อยที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่เหมาะสม ซึ่งท้ายที่สุดคนที่ได้ประโยชน์คือเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น และยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอาหารมั่นคงและผลิตเนื้อหมูปลอดภัยส่งมอบให้ทั้งประชาชนคนไทยและผู้บริโภคในต่างชาติ
การป้องกัน ASF ที่เข้มงวด เมื่อผนวกกับมาตรฐานบังคับของฟาร์มหมูที่กำลังจะถูกขับเคลื่อนให้ข้อปฏิบัติต่างๆเดินหน้า ย่อมทำให้อุตสาหกรรมหมูแข็งแกร่งขึ้น เป็นทั้งโอกาสและอนาคตที่สดใสของทั้งเกษตรกร และเศรษฐกิจชาติให้เข้มแข็ง.
No Comments