News

วิเคราะห์นโยบายเรียนฟรี   ผ่านวาทกรรมด้านการศึกษาอดีตผู้นำโลก

30/06/2021

การศึกษาในฐานะเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ   ชี้นโยบายเรียนฟรีขอไทยยังคงมีจุดอ่อนอยู่ที่ระบบการบริหารและกระจายทรัพยากร    พร้อมแนะทางออกควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนเพื่อช่วยส่งเสริมระบบการศึกษาให้เข้มแข็งยั่งยืนในอนาคต

วาทกรรม ‘การศึกษาคือการลงทุน’ เป็นความเชื่อที่มีต้นเหตุมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตั้งแต่โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา การมีอาชีพที่มั่นคง ไปจนถึงการสร้างรายได้ หากเด็กสองคนที่อยู่ในระบบการศึกษาแบบเดียวกัน แต่มีเศรษฐานะต่างกันก็อาจมีช่องว่างระหว่างกันตั้งแต่ต้น ทั้งที่การศึกษาควรเป็นสวัสดิการที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน รัฐจึงควรสนับสนุนให้เกิดการศึกษาฟรีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ยิ่งมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ยิ่งมีโอกาสพัฒนาแรงงาน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา มีนโยบาย Free Community College ที่เน้นการสนับสนุนชนชั้นแรงงานให้เข้าถึงการศึกษาระดับสูง ด้วยการเพิ่มอัตราภาษีของคนที่มีรายได้สูงเพื่อนำมาสนับสนุนการศึกษา ซึ่งนักศึกษาของวิทยาลัยท้องถิ่นโดยเฉลี่ยแล้วอายุ 28 ปี มีทั้งภาระค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายในครอบครัว การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในภาวะวิกฤติ COVID-19 จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้นักศึกษาเหล่านั้นไม่หลุดจากระบบไป

ซาราห์ แฮนสัน-ยัง (Sarah Hanson-Young) สมาชิกวุฒิสภาพรรค Greens ในประเทศออสเตรเลีย ได้แสดงความเห็นผ่านบทความที่เผยแพร่ใน The Guardian ว่า ทุกคนควรเข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาแทนที่แรงงานคน จึงจำเป็นต้องเพิ่มทักษะแรงงานด้วยการศึกษา เพราะยังมีหลายอาชีพที่เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้และต้องใช้ทักษะระดับสูง ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการศึกษาฟรี ไม่ใช่แค่ผู้ที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังช่วยให้อัตราค่าจ้างแรงงานในสังคมโดยรวมสูงขึ้น เพราะจำนวนของแรงงานที่จบการศึกษาระดับสูงเพิ่มขึ้นด้วย    การสนับสนุนการศึกษาจึงเป็นทั้งเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ คุณภาพของแรงงานในระบบเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนในสังคมโดยรวม

มองนโยบายเรียนฟรีของไทย ทำไมจึงไม่มีประสิทธิภาพ

ในขณะที่ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในระดับปฐมวัยที่นักเรียนมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก และโอกาสที่เด็กจะได้เรียนต่อจนถึงระดับปริญญาตรีก็ยิ่งมีสัดส่วนน้อยลงเมื่อเทียบกับสหรัฐและออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม รัฐยังคงเล็งเห็นความสำคัญและพยายามออกนโยบายที่ช่วยให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้มากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ‘นโยบายเรียนฟรี 15 ปี’ เมื่อปี พ.ศ. 2557 แต่ผลของนโยบายกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

รูปแบบของการดำเนินนโยบายเรียนฟรีเป็นการดำเนินการแบบปันส่วน ส่งผลให้เกิดการกระจายทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเน้นไปที่การกระจายความเป็นธรรมแนวนอนมากกว่าความเป็นธรรมแนวตั้ง กล่าวคือ จัดสรรงบประมาณแบบเหมาจ่ายรายหัว มากกว่าการสนับสนุนตามความจำเป็นเฉพาะบุคคลอย่างแท้จริง ทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนี้ เมื่อนโยบายนำมาสู่การปฏิบัติในแต่ละสถานศึกษาก็ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะไม่มีคู่มือกำกับวิธีการอย่างชัดเจน และขึ้นอยู่กับการใช้ดุลยพินิจของแต่ละโรงเรียนเอง อีกทั้งยังเป็นการดึงครูออกจากห้องเรียนเนื่องจากบุคลากรที่ดำเนินงานไม่เพียงพออีกด้วย

โดยรวมแล้วการดำเนินนโยบายเรียนฟรีของประเทศไทยยังคงมีจุดอ่อนอยู่ที่ระบบการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องการกระจายทรัพยากร ซึ่งเป็นปัญหาที่สอดคล้องกับปัญหาอื่นๆ ในระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน

เรียนฟรีเป็นไปได้ ถ้าขยายเพดานความเท่าเทียม

นโยบายเรียนฟรีเป็นนโยบายที่ควรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การศึกษากลายเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้จริง อันดับแรกคือการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ใช้สำหรับการจัดการข้อมูลของแต่ละโรงเรียน เพื่อให้มีการจัดสรรทรัพยากรไปถึงนักเรียนในครัวเรือนยากจนได้จริง จากนั้นจึงกำหนดกรอบการปฏิบัติงานที่ชัดเจน สนับสนุนทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินของบุคลากรในโรงเรียนต่างๆ และการยกเลิกเพดานการจัดสรรงบแบบรายหัว ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายทรัพยากรได้อย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การพัฒนาการศึกษาควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เพราะโรงเรียนและชุมชนสามารถร่วมมือกันเพื่อช่วยส่งเสริมระบบการศึกษาให้เข้มแข็งได้ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

No Comments

    Leave a Reply