สทนช. เปิดตัวศึกษาการจัดทำผังน้ำพื้นที่ภาคเหนือ 4 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เน้นการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน หวังใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่
นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผังน้ำครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พื้นที่ลุ่มน้ำวัง ว่า สทนช. ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจัดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 1 โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เพื่อนำเสนอแนวคิดและขั้นตอนในการจัดทำผังน้ำ ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ และรับฟังสภาพปัญหาน้ำท่วม ระดับน้ำท่วมสูงสุดที่ยอมรับได้ และปัญหาน้ำแล้ง พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปประกอบการศึกษาจัดทำร่างผังน้ำ และนำมารับฟังความคิดเห็นในการประชุมครั้งต่อไป โดยได้รับเกียรติจากนายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรผู้ใช้น้ำ และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังกว่า 180 คน
นายปรีชา สุขกล่ำ กล่าวว่า พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดทำผังน้ำ 22 ลุ่มน้ำ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามที่กฎหมายได้ระบุไว้ และขณะนี้มีการศึกษาจัดทำผังน้ำ 14 ลุ่มน้ำ โดยเป็นการศึกษาช่วงปี 2562-2563 จำนวน 8 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำท่าจีน และในปี 2564-2565 จัดทำผังน้ำ จำนวน 6 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน โดยในปี 2566 จะดำเนินการอีก 8 ลุ่มน้ำที่เหลือ ได้แก่ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ชายฝั่งตะวันออก ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก และลุ่มน้ำโตนเลสาบ
สำหรับกระบวนการในการดำเนินการศึกษานั้น จะมีการศึกษาและทบทวนกายภาพของพื้นที่ การใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีตถึงปัจจุบัน ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนที่แสดงโครงข่ายระบบระบายน้ำในปัจจุบัน ทิศทางการไหลของน้ำ วิเคราะห์สภาพและสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง แผนที่แสดงระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัย การบริหารจัดการอุทกภัย มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา แผนที่แสดงจุดประกาศภัยแล้ง การบริหารจัดการภัยแล้ง มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จากหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำแผนที่แสดงสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางน้ำ ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อนำมากำหนดขอบเขตผังน้ำ โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ซึ่งการจัดทำผังน้ำมีเจตนารมณ์เพื่อให้การบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดเอกภาพและเป็นระบบ จึงจำเป็นต้องมีการวางผังทางน้ำและทิศทางการไหลของทางน้ำทั้งระบบขึ้นมาก่อน ซึ่งการวางผังน้ำดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย แผนแม่บท และแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ อีกทั้งผังน้ำดังกล่าว จะนำไปเชื่อมโยงกับผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนด การใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำในภาพรวมของประเทศให้เกิดประสานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบต่อไปได้ โดยการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำจะต้องไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือกระแสน้ำหรือสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม
“สทนช. คาดว่าจะสามารถจัดทำผังน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2565 โดยจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรผู้ใช้น้ำ และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ จำนวน 4 ครั้งต่อลุ่มน้ำ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพิจารณา พร้อมสะท้อนปัญหาและความต้องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำผังน้ำไปใช้สนับสนุนแผนงานการป้องกันแก้ไขอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งการบริหารจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำได้อีกด้วย” ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. กล่าวในตอนท้าย
No Comments