News

อัยยะ หรอยจริง ! สวพ.8 ค้นพบ “ฟ้าทะลายโจรให้สารทางยาสูง 6 เท่า

01/09/2021

ฮือฮาสวพ.8 ค้นพบ “ฟ้าทะลายโจรสายพันธุ์พื้นเมืองป่าขาด “จ.สงขลาให้ “สารแอนโดรกราโฟไลด์” มากถึง 6.01 %  (60,127 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) สูงกว่าค่ามาตรฐาน 6 เท่า   ด้าน“รมช.มนัญญา”หนุนกรมวิชาการเกษตรเร่งขยายโครงการพืชสมุนไพรชุมชนต้านโควิด 19ใน พื้นที่แปลงใหญ่พร้อมเดินหน้าการพัฒนาแฟลตฟอร์มนวัตกรรมการนำผลงานวิจัยไปใช้เชิงพาณิชย์และพัฒนาต้นแบบสมุนไพรชุมชน หวังสร้างความมั่นคงทางยาสมุนไพรให้คนไทยและสร้างรายได้ที่ยั่งยืนมั่งคงให้เกษตรกรในยุควิกฤติเศรษฐกิจ

นายจิระ    สุวรรณประเสริฐ     ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา(สวพ.8)  กรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  จากนโยบายสำคัญของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ผ่านมายังกรมวิชาการเกษตร นั้น สวพ.8 จึงเร่งวิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพรไทยโดยเฉพาะต้นฟ้าทะลายโจรเพื่อสร้างความมั่นคงทางยารักษาโรคโควิด-19ให้กับคนไทย โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรไทยเพื่อเพิ่มรายได้ สร้างความมั่นคง ยั่งยืน ล่าสุด สวพ.8ได้เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการทดลองขยายการผลิตแปลงใหญ่และการพัฒนาแฟลตฟอร์มนวัตกรรมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชที่เหมาะสมกับภูมิสังคมเกษตรกร  ภายใต้กิจกรรมการขับเคลื่อนพืชสมุนไพรชุมชนต้านโควิด19 ทั้งด้านการพัฒนาให้ได้เทคโนโลยีการผลิต เกษตรกรต้นแบบ และรูปแบบการผลิตพืชสมุนไพรที่เหมาะสมระดับเกษตรกรและชุมชนนั้น

ผลการศึกษาล่าสุด ได้มีวิเคราะห์สารสำคัญในผงฟ้าทะลายโจรสายพันธุ์พื้นเมืองป่าขาด อ.สิงนคร จ.สงขลา ประกอบด้วยส่วนของใบและกิ่งพบว่ามีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) 6.01 % (60,127 มิลลิกรัม/กิโลกรัม)สูงกว่าค่ามาตรฐาน6เท่าตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2562. ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 136 ตอนพิเศษ 95 ง. หน้า 8  กำหนดมาตรฐานของตัวยาสำคัญจากผงส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจรกำหนดให้มีสารสำคัญปริมาณ andrographolideไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.0 โดยน้ำหนัก (w/w)

นายธัชธาวินท์  สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญ สวพ.8 ให้รายละเอียดว่า สำหรับลักษณะที่สำคัญของฟ้าทะลายโจรสายพันธุ์พื้นเมืองป่าขาด เมื่ออายุ 3 เดือน มีความสูงต้น ประมาณ 60 ซม. ขนาดทรงพุ่มกว้าง 30 ซม. มีจำนวนกิ่ง 20 กิ่ง แบ่งเป็นกิ่งหลัก 5 คู่ หรือ 10 กิ่ง และกิ่งย่อยปลายยอด 5 คู่หรือ 10 กิ่ง ความยาวกิ่งล่างสุดโตเต็มที่ยาว 30 ซม. มีจำนวนใบ 7 คู่ 14 ใบ/กิ่ง ส่วนกิ่งถัดขึ้นมามีความยาว 30.5, 27, 22 และ 14.5 ซม. ตามลำดับ มีจำนวนใบเมื่ออายุ 3 เดือน 150 ใบ/ต้น ขนาดใบโดยเฉลี่ยกว้าง 3 ซม. ยาว 9 ซม. ทั้งนี้การเจริญเติบโต ของพืชจะแตกต่างกันไป ขึ้นกับการดูแลรักษา เช่น ควรใช้ต้นกล้าจากเมล็ด หรือการ ปักชำยอด ลักษณะดินการให้ปุ๋ย การให้น้ำ การตัดแต่ง เป็นต้น

“หากมีการนำฟ้าทะลายโจรสายพันธุ์พื้นเมืองป่าขาดมาผลิตเป็นผงยารับประทาน  โดยคำแนะนำทางการแพทย์ให้รับประทานยาผงฟ้าทะลายโจร รักษาอาการไข้หวัด ควรได้รับสาร Andrographolide อยู่ที่ 60 มิลลิกรัม/วัน และใช้รักษาโควิด 19 ไม่เกิน 180 มิลลิกรัม/วัน ผงยาฟ้าทะลายโจรสายพันธุ์พื้นเมืองป่าขาด หากบรรจุแคปซูลละ 500 มิลลิกรัม นำไปใช้เพื่อรักษาไข้หวัดโดยใช้ 2 แคปซูล/วัน และเพื่อรักษาโควิด 19 ใช้ 6 แคปซูล /วัน แต่ไม่ควรทานติดต่อกันเกิน 5 วัน”  นายจิระ    กล่าว   สำหรับแผนดำเนินงานโครงการทดลองขยายโครงการพืชสมุนไพรชุมชนต้านโควิด 19ใน พื้นที่แปลงใหญ่อ.สิงหนคร จ.สงขลาว่า ได้มีการดำเนินการ 5  รูปแบบ คือ  รูปแบบที่ 1 พัฒนาต้นแบบพืชสมุนไพรต้านโควิด 19 ครัวเรือนละ 100 ต้น ปลูกฟ้าทะลายโจร 40 ต้น กระชายขาว 30 ต้น ขิง 30 ต้น เพื่อใช้ในครัวเรือน แบ่งปันในชุมชน เป็นแหล่งขยายพันธุ์ และเป็นรายได้เสริม เป้าหมาย 32 ราย พัฒนาการผลิตพืชสมุนไพร โดยให้ความรู้ การพัฒนาการผลิต แปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาการตลาด และการประชาสัมพันธ์

รูปแบบที่ 2 พัฒนาต้นแบบสมุนไพรชุมชน ปลูกและบริหารจัดการในรูปแบบกลุ่ม เช่น วัด และกลุ่มเกษตรกร ปลูกฟ้าทะลายโจร 200-1,000 ต้น จำนวน 7 กลุ่ม พัฒนาการผลิตพืชสมุนไพรแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงสาธารณะเป็นหลัก

รูปแบบที่ 3 พัฒนาต้นแบบฟ้าทะลายโจรเชิงพาณิชย์ รายละ 1,000 ต้น ปลูกเพื่อการผลิตผงฟ้าทะลายโจรแคปซูล จำหน่าย เป็นรายได้ และแบ่งปันในชุมชน เป้าหมาย 10 ราย

รูปแบบที่ 4 การศึกษาการปลูกสมุนไพรในโรงเรือน ศึกษารูปแบบการปลูก การให้น้ำ การจัดการภายใต้สภาพโรงเรือน

รูปแบบที่ 5 ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จัดทำโครงการ “สงขลา เมืองสมุนไพรต้านโควิด 19” โดย MOU ร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขสงขลา โรงพยาบาลสิงหนคร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนสงขลา และร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาพืชสมุนไพร เป้าหมาย จำนวน 127 ตำบล ของจังหวัดสงขลา (ดำเนินการระยะที่ 2)

กระบวนการพัฒนาในส่วนของ สวพ. 8 จะศึกษาความเหมาะสมการปลูกพืชสมุนไพร สนับสนุนพันธุ์ฟ้าทะลายโจร 15,000 ต้น กระชายขาว 3,000 ต้น  และขิง 1,500 ต้น ให้ความรู้การผลิต การรับรองมาตรฐานสินค้า GAP อินทรีย์ พัฒนาการแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างแบรนด์สินค้า การส่งเสริมการตลาดชุมชน และตลาดดิจิตอล การประชาสัมพันธ์ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปบทเรียน และ ประเมินผลสำเร็จ

สถานที่ดำเนินการ คาบสมุทรสทิงพระ ต.ป่าขาด ต.ชะแล้ ต.ม่วงงาม ต.รำแดง อ.สิงหนคร ต.บ่อแดง
ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ ต.วัดสน อ.ระโนด ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธิ์  ต.บางกล่ำ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา

ดร.จิระ สุวรรณประเสริฐ กล่าวสรุปว่าในด้านผลผลิต (output)ของโครงการ   จะได้เทคโนโลยีการผลิต เกษตรกรต้นแบบ และรูปแบบการผลิตพืชสมุนไพรที่เหมาะสมระดับเกษตรกร และ ชุมชน ผลลัพธ์ (outcome) ได้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรทางยา ไม่น้อยกว่า 500,000 แคปซูล ทำให้มีการขยายการปลูกสมุนไพรจากการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์ ไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 3 เท่า  และเกษตรกร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 สามารถสร้างรายได้จากการผลิตพืชสมุนไพร    ผลกระทบ (impact)  ชุมชนเกษตร มีความสามารถในการจัดการตนเองด้านพืชสมุนไพรได้เพิ่มขึ้น มีความมั่นคงทางด้านยาสมุนไพรต้านโควิด 19 สามารถพร้อมรับ (Cope) ปรับตัว (Adapt) และการเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโต (Transform)  จากการผลิตพืชสมุนไพรต้านโควิด 19 สนองแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564 – 2565

No Comments

    Leave a Reply