News

สวพ.3เร่งพัฒนาระบบการปลูกพืชไร่อายุสั้นในพื้นที่ราบ 2 จว. 

09/09/2021

สวพ.3เร่งพัฒนาระบบการปลูกพืชไร่อายุสั้นหลังการเก็บเกี่ยวข้าวในพื้นที่ราบริมแม่น้ำชีจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดหนองบัวลำภูอย่างยั่งยืน    


นายจำลอง กกรัมย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 (สวพ.3)​ กรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  การปลูกพืชไร่อายุสั้นหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ถือว่าเป็นอาชีพที่จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ราบริมแม่น้ำชีจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดหนองบัวลำภูแบบยั่งยืน   ดังนั้น  สวพ.3 ได้เร่งขับเคลื่อนโครงการทดสอบเพื่อพัฒนาระบบการปลูกพืชหลังข้าวโพดฝักสดให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อเพิ่มรายได้ ผลตอบแทน และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกรนอกจากการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว    การพัฒนาระบบการปลูกพืชไร่อายุสั้นหลังการเก็บเกี่ยวข้าวในพื้นที่ราบริมแม่น้ำชีจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดหนองบัวลำภู โดยดำเนินการทดสอบในปี 2559-2563 ดำเนินการช่วงแรกในพื้นที่อำเภอมัญจาคีรี และอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ในปี 2562-2563 ขยายผลไปในพื้นที่อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น และอำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู

ทางด้านนางสาวพรทิพย์ แพงจันทร์    ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเลย    สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 (สวพ.3) หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า​    จากการวิเคราะห์ข้อมูลผลการทดสอบระบบการปลูกพืชไร่อายุสั้นหลังการเก็บเกี่ยวข้าว โดยการเปรียบเทียบในการที่เกษตรกรปลูกข้าวอย่างเดียวแล้วปล่อยพื้นที่ให้ว่างเปล่า เปรียบเทียบกับการที่เกษตรกรได้นำพืชพันธุ์ใหม่ของกรมวิชาการเกษตรที่สามารถปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าวโดยใช้น้ำไม่มาก และสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 3 ชนิดพืชคือ ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 6 ข้าวโพดฝักสดพันธุ์สงขลา 84-1 และมันเทศสายพันธุ์อายุสั้น คือ ระบบข้าว-ถั่วลิสง ข้าว-ข้าวโพดฝักสด และข้าว-มันเทศ จากผลการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างปี 2559-2562

อย่างไรก็ตาม สำหรับ ผลการทดสอบเปรียบเทียบข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า ในส่วนของข้าวพบว่าผลผลิตข้าวเฉลี่ย 452 กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 4,830 บาทต่อไร่ ต้นทุนเฉลี่ย 2,664 บาทต่อไร่ 2,191 บาทต่อไร่ ทั้งนี้การใส่เศษซากถั่วลิสงลงในแปลงอาจต้องใช้เวลาไประยะหนึ่งในการปรับปรุงดินและปรับการใส่ปุ๋ย เพราะจากข้อสังเกตของเกษตรกรพบว่าแปลงปลูกถั่วลิสงข้าวค่อนข้างงามมีใบมากกว่าปกติ  ส่วนพืชหลังเก็บเกี่ยวข้าว   อาทิ   ถั่วลิสง ผลผลิตฝักสดถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 6 เฉลี่ย 4 ปี 604 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรที่ได้ผลผลิตสูงมากกว่า 1 ตันต่อไร่ มีประมาณ 3-4 ราย ส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมขายฝักสด ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9,714 บาท/ไร่ ซึ่งถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนในการดำเนินงานระยะเวลา 4 เดือนเกษตรกรบางรายต้มาย บางรายแบ่งขายฝักแห้งด้วย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากกว่าการขายฝักสด 2-3 เท่า และถั่วลิสงพันธุ์นี้น่าจะเป็นพืชและพันธุ์ทางเลือกที่น่าจะมีการขยายผลมากขึ้นเรื่อย ๆในในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และพื้นที่ขยายผลจังหวัดหนองบัวลำภู ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดของปริมาณน้ำในพื้นที่ต่างๆ และเป็นพืชที่การตลาดค่อนข้างกว้างกว่าพืชอื่นๆ   ส่วนข้าวโพดฝักสด พันธุ์สงขลา 84-1 ได้ผลผลิตฝักสดเฉลี่ย 4 ปี 1,646 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมขายฝักสด ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10,566 บาท/ไร่

ซึ่งในข้อเท็จจริงเกษตรกรบางรายที่ปลูกแล้วขายฝักต้ม ทำให้มีรายได้มากกว่า ซึ่งน่าจะเป็นพืชและพันธุ์ทางเลือกอีกชนิดหนึ่งในพื้นที่ ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดของปริมาณน้ำในพื้นที่เช่นกัน ซึ่งรวมทั้งการตลาดในพื้นที่ด้วยเช่นกัน    ส่วนมันเทศ สายพันธุ์อายุสั้น ผลผลิเฉลี่ย 1,481 กิโลกรัม/ไร่ ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 13,187 บาท/ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป เพื่อลดปัญหาการทำลายของด้วงงวงมันเทศ และเสี้ยนดิน และบางพื้นที่ตลาดมีความต้องการผลผลิตมันเทศที่มีหัวเล็ก ไม่ใหญ่มากด้วย

ในขณะด้านระบบการปลูกพืช  พบว่า  ข้าว-ถั่วลิสง ถึงแม้ว่าการหาพืชทางเลือกเพิ่มเติมร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ ภายใต้เงื่อนไขทั้งด้านพื้นที่ น้ำใต้ดิน ปริมาณน้ำฝน เศรษฐกิจ รวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมการเกษตรก็ตาม ผลการทดสอบก็แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานมาในระยะเวลา 4 ปี ระบบการปลูกถั่วลิงหลังการเก็บเกี่ยวข้าวให้ผลตอบแทนถึง 12,047 บาท/ไร่ มากกว่าที่เกษตรกรไม่ปลูกอะไรตามหลังข้าวเลย ซึ่งได้ผลตอบแทนเพียง 2,191 บาท/ไร่ มีความแตกต่างคิดเป็นร้อยละ 550      ส่วนข้าว-ข้าวโพดฝักสด ระบบการปลูกข้าวโพดฝักสดหลังการเก็บเกี่ยวข้าวให้ผลตอบแทนถึง 12,937 บาท/ไร่ ซึ่งมากกว่าที่เกษตรกรไม่ปลูกอะไรตามหลังข้าวเลย ซึ่งได้ผลตอบแทนเพียง 2,191 บาท/ไร่ มีความแตกต่างคิดเป็นร้อยละ 591

“นางสาวพรทิพย์ แพงจันทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นต่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้น(Marginal Rate of Return (MRR))(%) เห็นได้ว่าเมื่อเกษตรกรปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อปลูกพืชหลังเก็บเกี่ยวข้าวในพื้นที่นาบางส่วน พบว่า ระบบข้าว-ข้าวโพดฝักสดให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากที่สุด คือมีค่า MRR เฉลี่ยร้อยละ 305 รองลงมาคือ ข้าว-มันเทศ และข้าว-ถั่วลิสง เป็นร้อยละ 282 และ 195 ตามลำดับ ในขณะที่พื้นที่ขยายผลในจังหวัดขอนแก่น กลับตรงข้าม คือ ระบบข้าว-ถั่วลิสง จะมีค่า MRR สูงกว่าระบบข้าว-ข้าวโพดฝักสด อาจเป็นเพราะการปลูกข้าวโพดฝักสดในพื้นที่ใหม่เกษตรกรรายใหม่ยังไม่คุ้นเคยและข้าวโพดฝักสดมีปัญหาช่วงออกดอกกระทบแล้ง ผลผลิตค่อนข้างต่ำ ในขณะที่ถั่วลิสงสามารถให้ผลผลิตได้เพราะมีปัญหากระทบแล้งน้อยกว่า ในขณะที่พื้นที่ขยายผลจังหวัดหนองบัวลำภูในปี 2562-2563 พบว่า เกษตรกรที่ผลิตพืชในระบบข้าว-ข้าวโพดฝักสดได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย ร้อยละ 462 ขณะที่ระบบข้าว-ถั่วลิสง มีค่า MRR ร้อยละ 8จ207 เป็นเพราะว่าระบบการตลาดข้าวโพดฝักสดในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูค่อนข้างดี และมีเกษตรกรบางกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายผลิตข้าวโพดฝักสดส่งโรงงานแปรรูปของเอกชนอยู่แล้วบางส่วนนั่นเอง
ด้านนายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เขี่ยวชาญ สวพ8 ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัยพัฒนาและทดสอบ ฯ กล่าวว่า จากผลสำเร็จของงานวิจัย สวพ3 จึงได้มีการขยายผลไปสู่วงกว้าง เช่น ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู จะเป็นในส่วนที่หน่วยงานเทศบาลโนนสะอาด อำเภอศรีบุญเรืองได้เชื่อมโยงเครือข่ายต่อเนื่องกับเทศบาลใกล้เคียงในรูปแบบการให้ยืมเมล็ดพันธุ์และปัจจัยการผลิตอื่น เช่นชีวภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนั้นในปี 2563-2564 เกษตรกรขยายผลการผลิตพืชหลังการเก็บเกี่ยวข้าวโดยใช้ถั่วลิงพันธ์ขอนแก่น 6 ข้าวโพดหวานพันธุ์สงขลา 84-1 ถั่วเขียว รวมทั้งถั่วเหลืองฝักสดในพื้นที่มากกว่า 100 ไร่ เกษตรกร 102 ราย และสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู นำแนวทางการพัฒนาการผลิตและเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตผ่านศูนย์ถั่วชุมชน 6 อำเภอ โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 เป็นวิทยากรให้ความรู้จากเทคโนโลยีจากการทดสอบด้านต่างๆ และสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่นได้ร่วมบูรณาการการจัดทำแปลงต้นแบบขยายผลระบบการปลูกพืชหลังการเก็บเกี่ยวข้าว (ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 6 และข้าวโพดฝักสดพันธุ์สงขลา 84-1) ในพื้นที่อำเภอน้ำพองโดยคัดเลือกเป็นผลงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ผ่านเกษตรกรต้นแบบ 30 ราย พื้นที่มากกว่า 50 ไร่ ในอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น”

 

No Comments

    Leave a Reply