PR NEWS

บ๊อชเติบโตมั่นคงด้วยเทคโนโลยีโซลูชั่นอาคารและพลังงานที่รองรับการเชื่อมต่อ

26/12/2018

บ๊อชเติบโตมั่นคงด้วยเทคโนโลยีโซลูชั่นอาคารและพลังงานที่รองรับการเชื่อมต่อ

พร้อมผสานปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นอาวุธลับ ขับเคลื่อนการเติบโต

  • ดร. สเตฟาน ฮาร์ตทุง คณะกรรมการบริหารของบ๊อช เผยว่า “ในขณะที่ทุกคนต่างพูดถึง AI   บ๊อชจะเป็นผู้นำมาใช้ให้เห็นผลจริง”
  • กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอาคารและพลังงานของบ๊อช คาดการณ์รายได้ทะลุ 5,500 ล้านยูโร
  • บ๊อชเร่งขยายธุรกิจมุ่งสู่แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์

บ๊อช ขยายการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านโซลูชั่นส์อาคารและพลังงานที่รองรับการเชื่อมต่อ โดยในปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอาคารและพลังงานสามารถจำหน่ายอุปกรณ์ที่รองรับการเชื่อมต่อได้ราว 13 ล้านชิ้น ตั้งแต่ระบบทำความร้อน ระบบทำความเย็น และระบบระบายอากาศที่เชื่อมต่อกันในสำนักงาน ไปจนถึงแอปพลิเคชันสำหรับบ้านอัจฉริยะ โดย ดร. สเตฟาน ฮาร์ตทุง คณะกรรมการบริหาร สายงานเทคโนโลยีอาคารและพลังงาน กล่าวในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “เทคโนโลยี IoT เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักสำหรับธุรกิจของเรา ทั้งในวันนี้และอนาคต”

ทั้งนี้ บ๊อชคาดว่าสายงานธุรกิจนี้จะทำยอดขายได้ถึง 5,500 ล้านยูโรในปี 2561 คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 2 หรือเท่ากับร้อยละ 6 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ดร. สเตฟานยังเสริมด้วยว่าปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี IoT ด้านต่าง ๆ รวมทั้งขับเคลื่อนการเติบโตของบ๊อชในอนาคต “AI จะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่รองรับระบบเชื่อมต่อต่าง ๆ กลายเป็นผู้ช่วยแสนอัจฉริยะของเรา”

ระบบที่ทั้งฉลาดและเชื่อมต่อถึงกัน: มอบความปลอดภัยมากขึ้น สมรรถนะสูงขึ้น และสะดวกสบายยิ่งขึ้น

สำหรับเทคโนโลยีอาคารและพลังงานนั้น ความสามารถในการเชื่อมต่อ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มีความสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพด้านความมั่นคงปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความสะดวกสบาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอาคารของบ๊อช ที่ได้พัฒนากล้องพร้อมระบบอัจฉริยะเพื่อการวิเคราะห์ภาพ ที่สามารถระบุตำแหน่งการเกิดเพลิงไหม้ จึงสามารถตรวจจับเปลวไฟหรือกลุ่มควันได้ในไม่กี่วินาที รวดเร็วฉับไวกว่าเครื่องตรวจจับควันทั่วไป เพราะไม่ต้องรอให้กลุ่มควันก่อตัวหนาแน่นจนถึงเพดาน จนกว่าระบบเตือนภัยจะส่งสัญญาณ เวลาที่เร็วขึ้นหลายวินาทีนี้จะช่วยยับยั้งความเสียหายและอาจรักษาชีวิตผู้คนไว้ได้มากขึ้น

“ทุกคนต่างพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่บ๊อชจะเป็นผู้นำมาใช้ให้เห็นผลจริง โดยภายใน 10 ปีนับจากนี้ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของบ๊อชทั้งหมดจะใช้เทคโนโลยี AI เป็นตัวขับเคลื่อน หรือไม่ก็จะผลิตและพัฒนาขึ้นจากการที่ใช้ AI เข้ามาช่วย” ดร. ฮาร์ตทุง กล่าว

บริษัทฯ มีแผนลงทุนด้านเทคโนโลยี AI โดยจะใช้งบประมาณราว 300 ล้านยูโรในการขยายศูนย์วิจัยและพัฒนาด้าน AI ของบ๊อช (Bosch Center for Artificial intelligence: BCAI) ภายในพ.ศ.2564 ซึ่งปัจจุบันศูนย์ BCAI มีผู้เชี่ยวชาญราว 170 คนทั่วโลก และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 400 คนในอนาคต ศูนย์ฯ นี้มีโครงการพัฒนาราว 80 โครงการ ตั้งแต่โครงการระบบขับขี่อัตโนมัติ ไปจนถึงแอปพลิเคชันทางการแพทย์และการผลิต หลายโครงการเป็นความร่วมมือกับสถาบันทางวิชาการ เช่น มหาวิทยาลัยทูบิงเง็น มหาวิทยาลัยชตุ๊ทการ์ต และมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม

มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านการสร้างโอเพ่นแพลตฟอร์ม พันธมิตร และการทำงานร่วมกันบนระบบข้อมูลที่แตกต่างกัน

บ๊อชให้ความสำคัญกับการสร้างแพลตฟอร์มและพันธมิตรทางธุรกิจ ของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอาคารและพลังงาน โดยดร. ฮาร์ตทุง อธิบายว่า ระบบการเชื่อมต่อในปัจจุบัน มีอุปกรณ์และบริการจากผู้ผลิตหลากหลายราย บริษัทจึงต้องทำให้อุปกรณ์และบริการเหล่านี้สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้”

ด้วยเหตุนี้เอง บริษัทฯ จึงก่อตั้ง Security and Safety Things GmbH (SAST) เป็นบริษัทย่อยในเครือของบ๊อชเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน SAST เป็นกิจการสตาร์ทอัพเจ้าของโครงการโอเพ่นแพลตฟอร์ม IoT สำหรับแอปฯ กล้องรักษาความปลอดภัย ซึ่ง SAST ต้องการพัฒนาระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ที่สามารถตั้งโปรแกรมและควบคุมแอปฯ ต่างๆ ของกล้องรักษาความปลอดภัยสารพัดรุ่นได้ในคราวเดียว ซึ่งจะทำให้การอัพเดตซอฟต์แวร์ของกล้องที่มาจากผู้ผลิตรายต่างๆ กัน สามารถทำได้จบในเวอร์ชั่นเดียว “SAST หวังสร้างตลาดสำหรับแอปพลิเคชันที่รองรับความหลากหลายของกล้องรักษาความปลอดภัยในตลาดโลก ด้วยการใช้ระบบปฏิบัติการแบบเปิดและเป็นมาตรฐานเดียวกันดร. ฮาร์ตทุง กล่าว

การเปลี่ยนแปลงในทีมบริหาร

เป็นเวลาร่วม 5 ปีที่มร. ฮาร์ตทุงกุมบังเหียนกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอาคารและพลังงานของบริษัทฯ และเขากำลังจะส่งมอบภารกิจนี้ต่อไปยัง ดร. คริสเตียน ฟิชเชอร์ ในวันที่ 1 มกราคม 2562 โดยก่อนหน้าที่ ดร. ฟิชเชอร์จะมาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารของบ๊อชเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 เขายังเคยเป็นหุ้นส่วนอาวุโสของกิจการที่ปรึกษา โรแลนด์ เบอร์เกอร์ มาก่อน ทั้งนี้ ดร. ฟิชเชอร์ สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตในสาขาเศรษฐศาสตร์ เขากล่าวว่า “บ๊อชเริ่มต้นโอกาสใหม่ๆ ในด้าน IoT ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญแห่งการบุกเบิกในอุตสาหกรรม จึงถือว่าบ๊อชมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะก้าวต่อไปอย่างมั่นคงในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางนี้”

No Comments

    Leave a Reply