กรมชลประทาน สั่งทุกโครงการชลประทานจับตาสภาพอากาศรวมทั้งสถานการณ์น้ำท่าตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำตามมาตรการรับมือน้ำหลาก กำหนดพื้นที่ กำหนดคน กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ ประจำจุดเสี่ยง พร้อมปฏิบัติงานได้ทันที
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน ( 13ก.ย. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 43,114 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 19,182 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 32,954 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,578 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 2882 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้วรวม 14.87 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.79 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 85 ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ปัจจุบัน(13 ก.ย. 64)เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวข้าวหมดแล้ว หลังจากนี้จะเตรียมพื้นที่เป็นพื้นที่หน่วงน้ำต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกส่วนใหญ่ในขณะนี้ ยังคงอยู่ในพื้นที่ท้ายอ่างฯ ทำให้จำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ตอนบนให้ได้มากที่สุด จึงได้สั่งการโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ อาทิ แก้มลิง หนอง บึง ให้ได้มากที่สุด พร้อมกับประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจทำการเพาะปลูกต่อไป
อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 13 – 16 ก.ย. 64 ร่องมรสุมผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงกำชับโครงการชลประทานและสำนักเครื่องจักรกลในพื้นที่เสี่ยง ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ติดตามสภาพอากาศรวมทั้งสถานการณ์น้ำท่าตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง เน้นบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในอ่างฯ ให้ได้มากที่สุดภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาปรับลดการระบายตามเกณฑ์เก็บกัก โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน พร้อมประสานแจ้งเตือนก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ เข้าประจำจุดเสี่ยงสามารถปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา ที่สำคัญให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร1460สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา
No Comments