รมว.กษ.ลงพท.ติดตามความก้าวหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง หนึ่งในโครงการสำคัญตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยเมืองตรังพร้อมพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อส่งเสริม และเพิ่มผลผลิตภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน
วันนี้ (15 ตุลาคม 2564 ) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง นายเดช เล็กวิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 คณะผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปความก้าวหน้าโครงการ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เป็นโครงการที่จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตำบลหนองตรุด ตำบลนาโต๊ะหมิง และตำบลบางรัก เขตอำเภอเมือง จังหวัดตรัง รวมพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ และสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์จากโครงการฯ ในช่วงฤดูฝนกว่า 10,000 ไร่ และฤดูแล้งอีกกว่า 3,000 ไร่ อีกทั้งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการผลักดันการรุกตัวของน้ำเค็ม เพื่อรักษาระบบนิเวศ พร้อมทั้งช่วยผลิตน้ำประปาปีละ 1.74 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัยฯ ได้กล่าวกับพี่น้องประชาชนว่ากระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและนำโครงการที่ดีมาสู่พื้นที่จังหวัดตรัง ขอเพียงพี่น้องชาวตรังร่วมมือให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการสำคัญต่างๆ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
จากนั้นคณะฯ ได้เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าในการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำย่านตาขาว ณ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำย่านตาขาว อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง โดยมี นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เป็นผู้บรรยายสรุป
สืบเนื่องจากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาย่านตาขาว มีพื้นที่ให้บริการน้ำประปา 2 อำเภอ คือ อำเภอย่านตาขาว และอำเภอปะเหลียน จำนวนผู้ใช้น้ำ 7,300 ราย กำลังผลิต 200 ลูกบาศก์ต่อชั่วโมง ผลิตน้ำประปาวันละ 4,800 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งใช้น้ำดิบจากคลองลำพิกุล และในช่วงฤดูแล้งของทุกปีระดับน้ำในคลองลำพิกุลจะลดลงอย่างรวดเร็ว การประปาส่วนภูมิภาคสาขาย่านตาขาวแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการใช้กระสอบทรายสร้างฝายกั้นน้ำชั่วคราว เพื่อยกระดับน้ำในคลองลำพิกุลให้สามารถทำการสูบน้ำดิบได้ และในการประชุมคณะทำงานบริหารจัดการน้ำด้านอุปโภคบริโภค ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 มีมติให้โครงการชลประทานตรัง ดำเนินการศึกษาออกแบบการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำคลองลำพิกุล ซึ่งมีแผนสำรวจและออกแบบภายในปี 2565 และดำเนินการก่อสร้างในปี 2566 โดยลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างอาคารอัดน้ำจำนวน 1 แห่ง ขุดลอกคลองพิกุลความยาวประมาณ 5,000 เมตร ขุดลอกคลองตาเหลียน ความยาวประมาณ 4,800 เมตร และก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำดิบที่จะนำมาผลิตน้ำประปาตามที่การประปาส่วนภูมิภาคสาขาย่านตาขาวขอรับการสนับสนุน
No Comments