วันนี้(28ก.พ.65)ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (28 ก.พ.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 51,796 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 27,857 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 53 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,162 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 5,466 ล้าน ลบ.ม. สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วกว่า 7.26 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 113 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 4.38 ล้านไร่ และมีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว 0.23 ล้านไร่ จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดทำนาปรังต่อเนื่อง เนื่องจากมีปริมาณน้ำจำกัด เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ กรมชลประทาน จะเริ่มทยอยส่งน้ำเข้าพื้นที่ ในวันที่ 10 มีนาคม 2565 นี้ เพื่อให้เกษตรกรเริ่มเตรียมแปลงเพาะปลูก จึงขอให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เตรียมพื้นที่ลำเรียงน้ำ กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางในลำคลองต่างๆ เพื่อให้การลำเลียงน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากปริมาณฝนตกหนักในช่วงวันที่ 24-26 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีพื้นที่น้ำท่วมและน้ำล้นตลิ่ง รวม 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง สงขลา ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ยะลา และปัตตานี กรมชลประทาน ได้เร่งเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมเตรียมเครื่องจักรเครื่องมืออื่นๆ อาทิ รถแบ๊คโฮ เข้าประจำพื้นที่ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างทันที ปัจจุบันหลายพื้นที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว คาดว่าหากไม่มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน
อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 6 – 8 มีนาคม 2565 จะมีฝนตกเพิ่มในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่าและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง เพื่อติดตามสถานการณ์และให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญา อาจส่งผลให้มีปริมาณฝนตกในหลายพื้นที่ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน จึงกำชับให้เฝ้าระวัง ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ วางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมตรวจสอบอาคารชลประทานต่างๆ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
No Comments