วันนี้ ( 1 มีนาคม 66) ณ บริเวณหน้าหอบังคับการบิน สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการ ฝนหลวงประจำปี 2566โดยมี นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวให้การต้อนรับ เพื่อแสดงถึงความพร้อมของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วยที่จะออกปฏิบัติการฝนหลวง
และสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ โดยในช่วงเช้าได้มีการจัดพิธีสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และมีการแสดงภาพตัวอย่างภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวง และการบรรยายภาพรวมภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2566 โดย นางสาววาสนา วงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการฝนหลวง หลังจากนั้นประธานได้คล้องพวงมาลัยให้กับนักบิน ผู้อำนวยการศูนย์ และหัวหน้านักบิน จำนวน 8 ชุด ที่จะไปประจำการ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภูมิภาคต่าง ๆ และทำพิธีปล่อยคาราวานเครื่องบินฝนหลวงออกปฏิบัติการทั่วประเทศ ณ จุดจอดเครื่องบิน นอกจากนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังได้มอบน้ำแข็งแห้งเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงอีกด้วย
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากที่สถานการณ์ สภาพอากาศในปี 2566 ได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานีญาทำให้มีฝนตกมากกว่าค่าปกติโดยทั่วไปแต่คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” จะกลับมามีอิทธิพลต่อสภาพอากาศในประเทศไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป ส่งผลให้สภาพอากาศแห้งแล้งมากขึ้นและฝนตกน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบ
เรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคน้ำเพื่อทำการเกษตร รวมถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่อาจมีปริมาณน้ำเก็บกักได้น้อยกว่าในปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและ
การบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานดูแลบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์มากขึ้น โดยได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศด้วย
ด้าน นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2566 มีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ป้องกันการเกิดพายุลูกเห็บ สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐานซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป รวมถึงการเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆของประเทศ ประจำปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 7 ศูนย์ โดยมีอากาศยานรวมทั้งหมด 30 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 24 ลำ อากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 6 ลำ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้
1. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป
2. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดแพร่ ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 มีนาคม 2566 และ วันที่ 1 – 30 มิถุนายน 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2566 และ
วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2566
3. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 1-31 มีนาคม 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 กันยายน 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 สิงหาคม 2566
4. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 กันยายน 2566
5. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 กันยายน 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 กันยายน 2566
6. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดระยอง ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 กันยายน 2566
7. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดชุมพร ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 กันยายน 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 กันยายน 2566
นายสุพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของสภาพอากาศและความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อให้เหมาะสมในการปฏิบัติการช่วยเหลือให้ตรงตามเป้าหมาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนต่อไป ทั้งนี้สามารถติดต่อประสานแจ้งข้อมูลและขอฝนหลวงได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 ต่อ 410 หรือช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, Twitter : @drraa_pr และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 7 ศูนย์ทั่วประเทศ
No Comments