วันที่ 21 กรกฎาคม 2562 เวลา 10.30 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ จำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ลุ่มรับน้ำ ที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งเนื่องจากฝนทิ้งช่วงในขณะนี้ ซึ่งทุกหน่วยปฏิบัติการจะบูรณาการวางแผนการทำงานในแต่ละพื้นที่ให้ครอบคลุมและทั่วถึงให้มากที่สุด โดยในการปฏิบัติงานแต่ละวัน ทางกรมฝนหลวงฯ จะพิจารณาจากพื้นที่การเกษตร ที่ประสบภัยแล้งประกอบกับสภาพอากาศที่เอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวง หากสภาพอากาศมีความเหมาะสมที่เอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวงในเกณฑ์ดี จะสามารถช่วยปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพื้นที่เป้าหมายได้เฉลี่ยจำนวนหลักแสนไร่ อย่างไรก็ตามพื้นที่การเกษตรของประเทศไทยทั้งหมดมีจำนวน 149 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน จำนวน 35 ล้านไร่ พื้นที่การเกษตรอาศัยน้ำฝน จำนวน 110 กว่าล้านไร่ ดังนั้น ในการดูแลเรื่องความต้องการน้ำเพื่อทำการเกษตร ทางกรมฝนหลวงฯ จะพยายามปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหา อย่างเร่งด่วนที่สุดโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และจะใช้อากาศยานที่ประจำการอยู่ จำนวน 21 ลำ และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ จำนวน 2 ลำ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องเกษตรกรและประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (20 ก.ค. 2562) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่บางส่วนของ จ.พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครสวรรค์ ลพบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ชัยภูมิ มหาสารคาม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพลตอนล่าง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อน ลำปลายมาศ ทะเลสาบกว๊านพะเยา อ่างเก็บน้ำจำนวน 7 แห่ง และเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง
ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง ยังคงมีจำนวน 1 จังหวัด (2 อำเภอ 11 ตำบล 79 หมู่บ้าน) ได้แก่ จ.มหาสารคาม ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำที่เก็บกัก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 18 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 147 แห่ง การคาดการณ์พื้นที่ประกาศเสี่ยง ฝนตกหนักถึงหนักมากจากกรมอุตุนิยมวิทยาวันนี้ มีบริเวณภาคตะวันออกที่ จ.ระยอง จันทบุรี ตราด และภาคใต้ฝั่งตะวันตก บริเวณ จ.ระนอง และ จ.พังงา
สำหรับการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่า ผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ สถานีเรดาร์อมก๋อย และสถานีเรดาร์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จ.เชียงใหม่ มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 83 (อมก๋อย) 90% (ร้องกวาง) 93% (เชียงใหม่) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 67% (อมก๋อย) 71% (ร้องกวาง) 57% (เชียงใหม่) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.1 (อมก๋อย) -3.7 (ร้องกวาง) -2.7 (เชียงใหม่) และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 9 กม./ชม. (อมก๋อย) 17 กม./ชม.(ร้องกวาง) 18 กม./ชม.(เชียงใหม่) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่ จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการในขั้นตอนที่ 2 (เลี้ยงให้อ้วน) เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณอำเภอต่างๆ ใน จ.พะเยา แพร่ และน่าน ส่วนหน่วยปฏิบัติการฯ จ.ตาก ขึ้นบินปฏิบัติการในขั้นตอนที่ 1 (ก่อกวน/ก่อเมฆ) เพื่อช่วยเหลือบริเวณพื้นที่การเกษตรใน จ.ตาก เชียงใหม่ สุโขทัย และหน่วยปฏิบัติการฯ จ.พิษณุโลก ขึ้นบินปฏิบัติการในขั้นตอนที่ 1 (ก่อกวน) เพื่อช่วยเหลือบริเวณพื้นที่การเกษตรบริเวณจ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์
พื้นที่ภาคกลาง จากผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 72% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 84% ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -3.4 และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 36 กม./ชม. หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ลพบุรีและกาญจนบุรี ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน เนื่องจากมีเมฆชั้นกลางชั้นสูงปกคลุมจำนวนมาก และความเร็วลมค่อนข้างแรง ซึ่งหากมีสภาพอากาศเหมาะสม จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที
พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา และสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 79% (พิมาย) 77% (บ้านผือ) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 88% (พิมาย) 75% (บ้านผือ) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.4 (พิมาย) -2.2 (บ้านผือ) และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 11 กม./ชม.(พิมาย) 13 กม./ชม. (บ้านผือ) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ขอนแก่น จึงขึ้นบินปฏิบัติการในขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) ช่วยเหลือบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.ชัยภูมิตอนล่าง และ จ.กาฬสินธุ์ หน่วยปฏิบัติการฯ จ.อุบลราชธานี ขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร และ จ.อำนาจเจริญ พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี และอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน จ.อำนาจเจริญ หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุรินทร์ ตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ พื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง จ.สุรินทร์ ส่วนหน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา ยังขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป
พื้นที่ภาคตะวันออก จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่า มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 73% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 89% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -3.6 และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 41 กม./ชม. หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สระแก้ว จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยยาง จ.สระแก้ว
และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี พบว่า มีความชื้น ที่ระดับการเกิดเมฆ 64% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 37% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.9 และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 20 กม./ชม. หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุราษฎร์ธานี จึงวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ป่าพรุครวนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่การเกษตรบริเวณ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง อ.ระโนด จ.สงขลา และ จ.นครศรีธรรมราช
อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทันที เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
No Comments